นักวิทยาศาสตร์ค้นพบมอสที่พวกเขาเรียกว่าเป็น “สุดยอดสายพันธุ์” ที่สามารลดความเสี่ยงและความรุนแรงของน้ำท่วมต่อชุมชนที่อยู่ท้ายน้ำได้เป็นอย่างดี
นักวิทยาศาสตร์จากกลุ่มอนุรักษ์ Moors for the Future Partnership ซึ่งทำการทดลองมอสสายพันธุ์สแฟกนัม หรือ sphagnum moss เป็นเวลานานกว่า 6 ปี พบว่า การปลูกมอสสายพันธุ์นี้ในที่สูงสามารถช่วยชะลออัตราการไหลของน้ำจากเนินเขาได้เป็นอย่างดี ป้องกันไม่ให้พื้นที่ซับน้ำรองรับน้ำมากจนเกินไป
การศึกษาพบว่ามอสสายพันธุ์สแฟกนัมสามารถชะลอกระแสน้ำช่วงที่ไหลแรงที่สุดซึ่งจะมีปริมาณน้ำมากที่สุดไหลลงสู่แม่น้ำได้ถึง 65% โดยมอสสายพันธุ์นี้สามารถหน่วงระยะเวลาที่ฝนตกและน้ำฝนไหลลงสู่ระบบแม่น้ำได้ยาวนานมากขึ้น 680%
นักวิทยาศาสตร์ปลูกมอสสายพันธุ์สแฟกนัมขนาดเท่ากับเหรียญ 50 เพนนีกว่า 50,000 ต้น บนภูเขา Kinder Scout ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติ Peak District ที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเป็นห้องทดลองกลางแจ้ง
ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะปลูกมอสสแฟกนัม พื้นที่บนภูเขา Kinder ปกคลุมไปด้วยถ่านหินเลน ซึ่งเกิดจากต้นไม้ในหนองที่ทับถมกัน ซึ่งหมายความว่าหลังจากที่มีพายุ น้ำฝนจะไหลลงจากเนินเขาอย่างรวดเร็ว ทำให้ชุมชนที่อยู่ในหุบเขาท้ายน้ำมีความเปราะบางต่อน้ำท่วมมากขึ้น
การปลูกมอสสแฟกนัมสามารถสร้างผลประโยชน์ทางชีววิทยาที่สำคัญ โดยสามารถดูดซับน้ำได้สูงถึง 20 เท่าของน้ำหนักตัวมันเอง ซึ่งหมายถึงปริมาณน้ำฝนจะถูกซับไว้ที่บริเวณต้นน้ำมากขึ้นและค่อยๆ ไหลไปสู่พื้นที่ซับน้ำอย่างช้าๆ โดยไม่ล้นออกมา นอกจากนี้ มอสสแฟกนัมยังสามารถปกป้องชั้นถ่านหินเลนที่อยู่ใต้พื้นดิน และสามารถทับถมเป็นชั้นถ่านหินใหม่ที่มีความสำคัญต่อการสะสมปริมาณคาร์บอนในพื้นดิน
นักวิจัยกล่าวว่าประโยชน์ของมอสสแฟกนัมจะเพิ่มขึ้นตามอายุของมอสที่มากขึ้น การปลูกมอสจะมีประโยชน์ต่อโลก ทั้งชะลอผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศ พัฒนาคุณภาพของน้ำ และบรรเทาความรุนแรงของน้ำท่วม
Tom Spencer นักวิจัยคนหนึ่งของกลุ่ม Moors for the Future Partnership กล่าวว่า คุณสมบัติในการซับน้ำของมอสนั้นน่าทึ่งมาก และการปลูกมอสสแฟกนัมนี้อาจกลายเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงและรุนแรงของน้ำท่วม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อชุมชนที่อยู่ท้ายน้ำ
Helen Noble หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ South Pennines ที่ประเทศอังกฤษ ก็รู้สึกไม่ต่างไปจาก Tom Spencer โดยกล่าวว่า ผลการวิจัยนี้นับเป็นข่าวดีมากสำหรับชุมชมที่เปราะบางต่อน้ำท่วมในบริเวณอุทยาน South Pennines
ที่มา :