ความตกลงด้านการ อนุรักษ์ ฉบับใหม่ที่มีการรับรองในการประชุมสุดยอดขององค์การสหประชาชาติที่เมือง Montreal ทำให้ประชาคมโลกเดินหน้าเต็มตัวเรื่องการหยุดยั้งการลดลงอย่างรวดเร็วของธรรมชาติแต่จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อประเทศที่ร่ำรวยให้เงินช่วยเหลืออย่างเพียงพอและทุกประเทศให้ความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์เป็นอันดับต้นๆ
เป้าหมายที่กำหนดไว้ในความตกลงที่เรียกว่า ‘กรอบงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกคุนหมิง-มอนทรีออล’ (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) นั้นรวมถึงการหยุดยั้งการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตการอนุรักษ์พื้นที่ 30% ของผืนดินและทะเลของโลกภายในปี 2030 และการระดมเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อการอนุรักษ์
นักอนุรักษ์ชื่นชมการตั้งเป้าหมายอันสูงลิบของความตกลงและกล่าวว่าความตกลงนี้เทียบได้กับความตกลงปารีส ที่ช่วยคุ้มครองธรรมชาติโดยกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน 23 ข้อ ซึ่งแต่ละประเทศสามารถวัดความคืบหน้าได้

Marco Lambertini ผู้อำนวยการกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund International) กล่าวว่า “นี่เทียบได้กับเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศซึ่งอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส”
เพียงแค่กำหนดเป้าหมายก็ใช้เวลาสี่ปีในการเจรจาและไปถึงจุดหมายในการประชุมสุดยอด “COP15” ในเดือนนี้ที่เมือง Montreal ซึ่งประเทศต่างๆต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสิ่งที่ต้องทำเพื่อธรรมชาติและแรงกดดันอื่นๆเช่นการพัฒนาเศรษฐกิจและการแข่งขันในอุตสาหกรรม
ความเสี่ยงคือความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตนับแสนชนิดโดยยูเอ็นระบุว่าขณะนี้มีประมาณ 1 ล้านที่มีความเสี่ยงจะสูญพันธุ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการ อนุรักษ์ มองว่าการบรรลุเป้าหมาย 23 ข้อนั้นยากกว่ามากเพราะต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่แรงกล้าและความเต็มใจที่จะเสียสละอสังหาริมทรัพย์ทำเลดีที่สุดในโลกบางส่วนให้แก่ธรรมชาติ
“สิ่งที่สำคัญจริงๆคือเป้าหมายเหล่านี้จะถูกแปลงเป็นแผนระดับชาติได้อย่างไร” Nick Isaac นักนิเวศวิทยาระดับมหภาคแห่งศูนย์นิเวศวิทยาและอุทกวิทยาแห่งสหราชอาณาจักรกล่าว
สำหรับประเทศกำลังพัฒนามันก็ขึ้นอยู่กับการได้รับเงินทุนซึ่งจำเป็นมากเพื่อจูงใจให้เกิดการอนุรักษ์และช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย
“กุญแจสำคัญจะอยู่ที่ประเทศพัฒนาแล้วที่ทำตามข้อผูกพันทางการเงินได้ก่อนกำหนด” ผู้เจรจาจากประเทศในละตินอเมริกากล่าว

อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น
แม้ว่าความตกลงดังกล่าวจะมีเป้าหมายอันทะเยอทะยานนั่นคือการคุ้มครอง 30% ของผืนดินและทะเลภายในปี 2030 แต่ผลลัพธ์นั้นขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ใดถูกเลือกให้มีการอนุรักษ์และการดำเนินการแบบใดที่นับว่าเป็นการคุ้มครอง
ในความตกลงไม่ได้มีการกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดแต่จะปล่อยให้ประเทศต่างๆตัดสินใจเองว่าจะทุ่มเทมากน้อยแค่ไหน
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และกลุ่มอนุรักษ์ได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆคุ้มครองผืนดินและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสายพันธุ์ปัญหาคือพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เดียวกันกับที่คนส่วนใหญ่ชอบอยู่อาศัยและทำงานเนื่องจากมีสภาพอากาศอบอุ่นมีน้ำและพื้นที่เขียวขจีอุดมสมบูรณ์
“การเลือกพื้นที่ที่จะคุ้มครอง… ต้องอิงจากข้อมูลและวิธีการที่ดีที่สุดที่มีอยู่” Alexandre Antonelli ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ของ Royal Botanic Gardens ที่ Kew ในอังกฤษกล่าว “มิฉะนั้นก็มีความเสี่ยงสูงที่พื้นที่ที่ถูกที่สุดจะได้รับการคุ้มครองมากกว่าพื้นที่ที่สำคัญที่สุดด้านความหลากหลายทางชีวภาพ”
สิ่งที่แต่ละประเทศมองว่าได้รับการคุ้มครองก็มีความสำคัญเช่นกันผู้เชี่ยวชาญกล่าว
ในระหว่างการพูดคุยผู้แทนได้หารือกันว่าพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองควรเป็นพื้นที่หวงห้ามไม่ให้มนุษย์มาตั้งถิ่นฐานและพัฒนาโดยสิ้นเชิงหรือไม่หรือควรอนุญาตให้มีการนำทรัพยากรบางส่วนมาใช้หากสามารถจัดการได้อย่างยั่งยืนความตกลงนี้ก่อให้เกิดคำถามซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป
บางประเทศได้เริ่มกำหนดเขตพื้นที่ที่จะคุ้มครองแล้วโดยจีนกันที่ดินเกือบ 1 ใน 3 ให้เป็นพื้นที่ห้ามพัฒนา แคนาดาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังขยายพื้นที่คุ้มครองบนบกและทางทะเลในเขตอาร์คติค
ปลายเดือนนี้คาดกันว่าสภาคองเกรสของสหรัฐฯจะผ่านกฎหมายเรื่องการสนับสนุนเงินรายปีจำนวน 1.4 พันล้านดอลลาร์แก่รัฐต่างๆของสหรัฐฯเพื่อใช้ในการอนุรักษ์

ขอดูเงินก่อน
ตลอดการประชุมสุดยอด COP15 สองสัปดาห์บรรดารัฐมนตรีต่างยืนกรานว่าการตั้งเป้าด้านการอนุรักษ์ใดๆต้องสอดคล้องกับเงินสดที่มีด้วย
ในที่สุดเงินสนับสนุนจากประเทศพัฒนาแล้วก็มาถึงแต่น้อยกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีที่มีการร้องขอจากความตกลงดังกล่าวได้ระบุคำสัญญาที่จะจัดสรรเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีจากภาครัฐและเอกชนภายในปี 2030 รวมถึงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์จากประเทศที่ร่ำรวย
ประเทศที่ยากจนกว่าเตือนว่าหากไม่มีเงินจำนวนนั้นพวกเขาก็ไม่รับประกันว่าจะสามารถคุ้มครองธรรมชาติภายในพรมแดนของตนได้
Brian O’Donnell ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรไม่หวังผลกำไร Campaign for Nature กล่าวว่า “การคุ้มครองป่าแอมะซอน, ป่าลุ่มน้ำคองโก, พื้นที่พรุป่าชายเลนและแนวปะการังทั่วโลกจำเป็นต้องใช้เงินสนับสนุนเพิ่มจำนวนมาก”
“ผู้นำทางการเมืองเพิ่งเริ่มตระหนักว่าความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญเพียงใดในวาระการประชุมและในงบประมาณของพวกเขา” เขากล่าว
ในการประชุม COP15 ช่วงท้ายสามประเทศที่มีป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดได้แก่บราซิล,คองโกและอินโดนีเซียได้ทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับความตกลงดังกล่าว ทั้งสามได้ประกาศความร่วมมือครั้งใหม่เมื่อเดือนที่แล้วเพื่อช่วยกันอนุรักษ์ป่า
“พันธมิตรกลุ่มนี้มีศักยภาพมาก” Anders Haug Larsen จาก Rainforest Foundation Norway กล่าว “และจากความตกลงที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่อุดมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดการคุ้มครองป่าฝนจึงกลายเป็นแกนหลักของการดำเนินการโดยปริยาย”