เครื่องหมายอัศเจรีย์

นักแผ่นดินไหววิทยา  ระบุ  แผ่นดินไหว ไต้หวัน ไม่กระทบไทย

แม้กรมทรัพยากรธรณี ออกมายืนยันว่า เหตุ แผ่นดินไหว บริเวณทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะไต้หวัน เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 18 ก.ย. 65 จะไม่ส่งผลกระทบต่อไทย เพราะมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่คนละเปลือกโลก  ซึ่งไต้หวันอยู่ระหว่าง แผ่นเปลือกโลกทวีปยูเรเซีย (Eurasian plate) กับ แผ่นดินเปลือกโลกมหาสมุทรฟิลิปปินส์ (Philippine plate) ทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง

ความรุนแรงของ แผ่นดินไหว ครั้งนี้ ขนาด 6.5 และ 6.8 แรงสั่นสะเทือนทำให้ อาคาร บ้านเรือนบางแห่งทรุดตัวได้รับความเสียหาย และมีประชาชนได้รับบาดเจ็บ อย่างน้อย 140  คน และเสียชีวิต 1 คน

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญ สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ว่า เมื่อเทียบกับของประเทศไทย เคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงมากที่สุด ปี พ.ศ.2557 ที่จังหวัดเชียงราย ขนาด 6.3  ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวระดับปานกลาง หากเทียบกับภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ใต้หวัน  ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวระดับรุนแรง  ข้อมูลจากกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ระบุว่า ช่วง ค.ศ.1900 – 2020 หรือ 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศเหล่านี้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ขึ้นไป จำนวน 28 ครั้ง โดยครั้งที่รุนแรงที่สุด คือแผ่นดินไหวขนาด 8.2 เมื่อปี ค.ศ.1920 ที่เมืองหัวเหลียน ประเทศไต้หวัน

ขณะที่ ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  “ไต้หวัน” คือ 1 ใน 3 ประเทศของทวีปเอเชีย ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง นอกจากประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ เนื่องจากอยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟ หรือ Ring of Fire โดยไต้หวันตั้งอยู่ระหว่างแผ่นยูเรเซียกับฟิลิปปินส์  ซึ่งจะมีการขยับเคลื่อนตัวทุกปี ปีละประมาณ 7.3 ซม. ประกอบกับไต้หวันเองยังมีรอยเลื่อนมากถึง 33 รอย มากกว่าไทยถึง 2 เท่า จึงไม่แปลกที่จะเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบกับไทย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เกิดเหตุ จนถึงวันนี้ สามารถตรวจพบแผ่นดินไหวตาม หรือ AFTERSHOCK ขนาดมากกว่า 3 ได้กว่า 135 ครั้ง และจากการประเมินคาดว่าไต้หวันจะยังคงมี AFTERSHOCK ต่อเนื่องไปอีกประมาณ 9 เดือนครึ่ง เพียงแต่ระดับความรุนแรงและความถี่อาจลดลงตามลำดับ

สำหรับประเทศไทยนั้นมี 16 รอยเลื่อน ( https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0vrs3GUQ6qKXuSRVPtYTLDe5YU9tcQWbLa1M9qhCA2eeMHXrmUYTX7R2n5aaURTAPl&id=2227744004132005 )  ที่ต้องเฝ้าระวังเหตุแผ่นดินไหวที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย   ส่วนรอยเลื่อนบริเวณเปลือกโลกบริเวณประเทศอินโดนีเซีย เมียนมา และในทะเลอันดามัน  ก็ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากรอยเลื่อนเหล่านี้จะส่งผลกระทบให้เกิดสึนามิในทะเล

 วิธีป้องกันตัวเองเบื้องต้น เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว

– ออกจากอาคารไปสู่ที่โล่งแจ้งในทันที

– หากมีคนอยู่จำนวนมากอย่าแย่งกันออกที่ประตู เพราะจะเกิดอันตรายจากการเหยียบกัน

– หากออกจากอาคารไม่ได้ให้หมอบอยู่ใต้โต๊ะ หรือยืนชิดติดกับเสาที่แข็งแรง

– คลุมศีรษะไว้จนกระทั่งแผ่นดินไหวหยุดเอง

– ถ้าอยู่ในตึกสูงให้อยู่ที่ชั้นเดิม อย่าใช้ลิฟต์

– เตรียมพร้อมเพื่อใช้ระบบเตือนภัยและระบบดับเพลิง

– หากขับขี่ยานพาหนะให้รีบจอดยานพาหนะ ในที่โล่งแจ้ง ห้ามหยุดใต้สะพาน ใต้ทางด่วน ใต้สายไฟฟ้าแรงสูง และ ให้อยู่ภายในรถยนต์

ส่วนการเตรียมพร้อมรับมือ ควรตรวจสอบดูว่าที่พักอาศัยนั้นตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงภัย แผ่นดินไหวหรือไม่  เสริมบ้านหรืออาคารให้มั่นคงแข็งแรงมากขึ้นเพื่อต้านแผ่นดินไหว  ทำที่ยึดตู้และเฟอร์นิเจอร์ไว้ไม่ให้ล้ม ติดยึดชุดโคมไฟบนเพดานให้มั่นคง  จัดการป้องกันไม่ให้แก๊สรั่วไหล  โดยใช้สายท่อแก๊สที่ยืดหยุ่นได้  หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้หน้าต่างหรือผนังห้อง และมีไฟฉาย วิทยุ ไว้ใกล้ตัว เป็นต้น

แชร์