วันนี้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายจากพายุฤดูร้อนที่พัดเข้ามา แต่การหาเสียงด้วยการชู “นโยบายการแก้ปัญหาฝุ่น” กลายเป็นประเด็นร้อนที่แต่ละพรรคออกมาแถลงจุดยืนและช่วงชิงความได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง
ถึงตอนนี้ มีอย่างน้อย 4 พรรคแล้วที่ประกาศนโยบายแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นทางการ คือ พรรคก้าวไกล เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ไทยสร้างไทย ขณะที่ พรรคเล็กๆ อย่าง พรรคเส้นด้าย ก็มีการโพสต์ประเด็นนี้ในเพจของพรรค
“ก้าวไกล” ย้ำเทรนด์คนรุ่นใหม่ ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม
เปิดตัวก่อนใคร ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 คือ พรรคก้าวไกล ที่ใช้โลเคชั่นปากคลองรังสิต ตั้งโพเดียม กลางน้ำให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคฯ โชว์วิสัยทัศน์ “แก้ปัญหาโลกร้อน” ด้วยนโยบายเชิงรุกและเชิงรับที่ครอบคลุมไปถึง การจัดการฝุ่น PM 2.5 ที่ต้นทาง

การกำจัดการเผา ภายใน 3 ปี พร้อมสนับสนุนงบประมาณให้ 1,000 ตำบลเสี่ยง ตำบลละ 3 ล้านบาท ให้ปรับตัวเพื่อลดการเผา การสนับสนุนรถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด ภายใน 7 ปี และการผลักดันกฎหมาย PRTR-Pollutant Release and Transfer Release เพื่อกำกับควบคุมโรงงานทุกแห่งให้เปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษสู่สาธารณะ
“งานวิจัยหลายชิ้นค่อนข้างบอกตรงกันว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ PM2.5 ส่วนใหญ่มาจากยานพาหนะโดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลสิ่งที่พรรคก้าวไกลคิดว่าทำได้ทันทีคือตั้งเป้าเปลี่ยนรถเมล์ทั้งหมดในกรุงเทพฯจากรถเมล์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลมาเป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมดภายใน 7 ปีและรถเมล์ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยหลังจากนี้ต้องเป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมดทุกจังหวัด”
ก่อนที่จะมีการแถลงนโยบาย แกนนำพรรคก้าวไกล ประเมินให้ทีมข่าวฟังว่า สนามการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคน่าจะมีความได้เปรียบในการเสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เนื่องจาก ส.ส. และทีมงานอยู่ในคณะกรรมาธิการฯ ที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น และจะใช้ “นโยบาย” ที่แถลงไปหาเสียงในพื้นที่ประสบปัญหาภัยฝุ่นในพื้นที่ภาคเหนือด้วย
สิ่งนี้สะท้อนว่า พรรคก้าวไกลกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย
“เพื่อไทย” ยกปัญหาฝุ่น เทียบเท่าโควิด-19
แต่ที่เซอร์ไพรส์ คือ พรรคเพื่อไทย ที่มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบาย PM 2.5” เป็นการเฉพาะ โดยพรรคมอบหมายให้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธานคณะกรรมการฯ พร้อมเปิดตัว 4 ยุทธศาสตร์หลักในการแก้ปัญหา โดยยืนยันว่า ต้องยกระดับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้เทียบเท่ากับโควิด-19 หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะใช้เวลา 5 ปีในการแก้ปัญหานี้

“รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง PM 2.5 ใกล้เคียงกับเรื่องโควิด -19 ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณอัตรากำลังการทำความเข้าใจการเตรียมพร้อมในเรื่องการรักษาพยาบาลในการดับไฟป่าต้องอยู่ในเกณฑ์เดียวกันแต่ไม่ได้เรียกร้องว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่ากับโควิดไม่ถึงขนาดนั้น”
การส่งสัญญาณในการพัฒนานโยบายแก้ฝุ่นของพรรคเพื่อไทย เกิดขึ้นครั้งแรกๆ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 หลังจากพรรคก้าวไกล แถลงนโยบายสิ่งแวดล้อมได้ 1 วัน ในวันนั้น แกนนำพรรคเพื่อไทย ยกพลขึ้นเหนือไปจังหวัดเชียงราย และเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ที่ อ.เทิง
สำหรับคอการเมือง การเปิดเวทีปราศรัยที่นั่น คือ การส่งสัญญาณและตอกย้ำว่า เพื่อไทยเชียงราย จะไม่เว้นช่องว่างให้กับ อดีต ส.ส.บ้านใหญ่เมืองเทิง “รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์” ที่ย้ายไปซบพรรคภูมิใจไทยอย่างเด็ดขาด แต่วันนั้น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ก็ประกาศว่าพรรคจะพัฒนานโยบายแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5
“เพื่อนจากกรุงเทพส่งไลน์มาถามว่าณัฐวุฒิภาคเหนือฝุ่นเยอะมั้ยผมบอกว่าไม่มีเพราะเรานำห่างไม่เห็นฝุ่นเลยมันจะมีได้อย่างไรแต่ถ้าฝุ่นที่ว่าหมายถึงฝุ่น PM 2.5 พรรคเพื่อไทยก็ถือว่าเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่พี่น้องได้โปรดติดตามวันพรุ่งนี้คณะของพรรคเพื่อไทยจะเดินทางไปหารือรับฟังปัญหาสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือและเราจะมีนโยบายมาแก้ปัญหาคืนลมหายใจบริสุทธิ์ให้คนภาคเหนือ”
“ประชาธิปัตย์” เสนอเขตมลพิษต่ำ แก้ฝุ่นเมือง
วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ป้ายหาเสียงเวอร์ชั่นใหม่ของว่าที่ผู้สมัคร พรรคประชาธิปัตย์ กทม.ที่อยู่ตามถนนสายหลักๆ ในเมือง ชูนโยบายผลักดัน “กฎหมายอากาศสะอาด” ซึ่งเป็นประเด็นร่วมที่ภาคประชาชนและพรรคการเมืองหลายพรรคเคยร่วมผลักดันในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แต่ถูกตีตกไป

บริเวณสี่แยกปทุมวัน นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการนโยบาย กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ชวนว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรค เปิดแถลง 3 นโยบายหลักแก้ปัญหาฝุ่นเมืองหลวง คือ เร่งออกกฎหมายอากาศสะอาด ประชาชนต้องมีสิทธิรับรู้ข้อมูลมลพิษ และกำหนดเขตมลพิษต่ำ 16 เขตนำร่องในพื้นที่เมืองชั้นในของ กทม.
“พื้นที่ชั้นใน 16 เขตของกทม. มีโรงเรียนมากกว่า 300 โรงเรียนมีโรงพยาบาลสถานพยาบาลมากกว่า 40 แห่งพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นตัวแทนในการดูแลและควบคุมให้มลพิษต่ำเพราะเป็นพื้นที่ละเอียดอ่อนมาก 16 เขตนี้จะเป็น 16 เริ่มต้นที่พรรคประชาธิปัตย์จะทำทันที”
“ไทยสร้างไทย” ชูนโยบายประชาชนเข้าถึงหน้ากาก N95 ทั่วถึง
ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ใช้สนามเลือกตั้ง “เขตดอนเมือง” ประกาศวาระเร่งด่วนแก้ฝุ่นเมือง แบบทำทันที คือ แก้ปัญหารถควันดำ ใช้มาตรการ Work from Home และสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงหน้ากาก N95 เพื่อป้องกันตัวเองจากมลพิษ

“เลิกเก็บภาษี N95 และรัฐต้องสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงหน้ากาก N95 ได้ทั่วถึงเพราะหน้ากากส่วนใหญ่ตอนนี้ไม่สามารถขจัดฝุ่นพิษได้แจกหน้ากาก N95 ให้กับคนที่นั่งรถเมล์ร้อนคนขับวินไรเดอร์และคนที่ต้องสูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 ภายนอกอาคารหรือบนท้องถนนตลอดเวลาและที่สำคัญคือเด็กเล็กเนื่องจากหายใจเร็ว”

ตอนนี้ คงต้องรอดูท่าทีของพรรคอื่นๆ ทั้งภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ชาติไทยพัฒนา รวมถึง พรรครวมไทยสร้างชาติว่า จะมีการแถลงนโยบายแก้ฝุ่น PM 2.5 หรือไม่ แต่ปรากฏการณ์ที่พรรคการเมืองออกมาประกาศนโยบายด้านนี้ ก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า กระแสสังคม มีผลต่อการจัดลำดับความสำคัญในการนำเสนอนโยบายของ “พรรคการเมือง” ในศึกเลือกตั้งรอบนี้
และนโยบายฝุ่น ไม่ใช่ นโยบายชายขอบ ที่ฝ่ายการเมืองจะมองข้ามได้อีกต่อไป.
