ทำไมพรรคการเมืองต้องมีนโยบายสิ่งแวดล้อม? … ทำไมปัญหาสิ่งแวดล้อมถึงเชื่อมโยงถึงพรรคการเมือง? …. พรรคการเมืองจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร?
ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ได้ไปพูดคุยกับตัวแทนของพรรคการเมืองเกี่ยวกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่พวกเขาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ไม่ต่างไปจากนโยบายเรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ของประชาชน หลายพรรคการเมืองมีมุมมองและนโยบายที่ทำให้เราได้เห็นความแตกต่างของปัญหาเหล่านี้มากขึ้น หลากหลายมิติ
“สิ่งแวดล้อมที่ดี จะทำให้ชีวิต ปากท้องของประชาชนดีขึ้นด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน”
ส่วนหนึ่งของนโยบายที่ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ ได้พูดให้เราได้เห็นภาพชัดขึ้น โดยมองว่า “เรื่องของสิ่งแวดล้อม” เป็นนโยบายที่อยู่ภายใต้นโยบาย “ความมั่นคง” ทั้งความมั่นคงด้านพลังงาน อาหาร ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิต เพราะทุกนโยบายที่เกิดขึ้นจะต้องคำนึงถึงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา หรือเกิดให้น้อยที่สุด

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พรรคพลังประชารัฐ
เช่นเดียวกับปัญหาของฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร นอกจากการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแล้ว ยังต้องวางนโยบายในระยะยาว ที่มีต้นเหตุมาจากการเผา โรงงานอุตสาหกรรม และยานยนต์ อย่างเป็นรูปธรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนด้วย นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะต้องมีการปรับแผนด้านพลังงานทั้งหมดที่สามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้ทั้งระบบ
“เวลาเราพูดถึง PM 2.5 เราก็จะบอกว่าเปลี่ยนมาใช้รถ EV สิ แต่มันต้องมีนโยบายชุดใหญ่ที่จะทำให้เห็นภาพว่าประชาชนสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่ออกมาบอกว่าลดภาษี แล้วบอกว่าเปลี่ยนรถให้กลายเป็น EV ให้หมด ซึ่งมันไม่ได้ยั่งยืน มันต้องเปลี่ยนทั้งอุตสาหกรรม ทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย”
ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า นโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคฯ เกิดจากการเข้าถึงข้อมูลผ่านการลงพื้นที่ของอดีต ส.ส. ในแต่ละชุมชน และชุดข้อมูลก็มาจากการศึกษาวิจัยที่มีผู้นำเสนอมาให้กับพรรคฯ ทำให้สามารถแยกประเด็นความเดือดร้อน และความต้องการได้เป็นข้อๆ จึงทำให้วางแผนในการที่จะจัดการปัญหาได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ไม่ว่าจะเรื่อง ขยะ น้ำท่วม น้ำเสีย ฝุ่นควันพิษ ที่จะต้องมีการร่วมวางแผนภาพใหญ่ในการแก้ปัญหาให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ เพราะด้วยลักษณะความแตกต่างทางด้านของภูมิศาสตร์ และประชากร

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล
อีกหนึ่งของพรรคเมือง อย่างพรรคก้าวไกล ที่มองว่าประเทศไทยยังขาดคือ “ระบบการเตือนภัย และการตรวจวัด”
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ ที่พรรคก้าวไกล จะต้องเร่งทำคือ “ระบบของการเตือนภัย และการตรวจวัด” ซึ่งเป็นหัวใจของการบริหารจัดการในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือเรื่องของมลภาวะทางอากาศ เพราะมองว่าระบบเตือนภัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่ครอบคลุม มองว่าการใช้เทคโนโลยีเพื่อมาพัฒนาระบบในการเตือนภัยให้ครอบคลุม ในทุกตำบล ที่จะชี้เหตุให้เห็น
ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยจะต้องมีการเชื่อมของหน่วยงานส่วนกลาง กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการกระจายงบประมาณลงไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถให้ความรู้ และเผยแพร่ข้อมูลกับพี่น้องได้อย่างทั่วถึง
“ในกรณีน้ำท่วมจังหวัดที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมมากๆ อย่างเช่นปทุมธานีนนทบุรี รวมถึง กทม. เอง ก็ยังไม่มีระบบเตือนภัยที่ดีในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเรื่องมลภาวะทางอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็กบางพื้นที่อย่างเช่นในภาคเหนือหลายจังหวัดก็ไม่มีระบบการตรวจวัดที่เจาะครอบคลุม”

สรเทพ โรจน์พจนา พรรคไทยสร้างไทย
ขณะที่ นายสรเทพ โรจน์พจนา ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM 2.5 ,น้ำท่วม ,ขยะ กลายเป็นปัญหาสำหรับคน กทม. โดยมองว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถแก้ได้ด้วยการ “ปรับโครงสร้างผังเมือง” ให้เป็น “ผังเมืองเขต” ส่วนในภาพใหญ่ระดับประเทศที่นอกจากจะมีผังเมืองหลักแล้ว จะต้องมี “ผังเมืองจังหวัด” เพื่อง่ายต่อการจัดสรรพื้นที่ควบคุม จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ตรงกับสภาพพื้นที่
“ผังเมือง กทม. คงแก้ลำบาก แต่เรามองในเรื่องของการปรับให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เช่น เขตเศรษฐกิจอย่างเยาวราช ถนนที่ถูกสร้างมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว ปัจจุบันนอกจากจะเป็นตึกแถว บ้านเรือน ยังกลายเป็นสตรีทฟู้ด โครงสร้างท่อระบายน้ำตั้งแต่ในอดีตจึงไม่สามารถรองรับจำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงระบบบำบัดน้ำเสียไขมันต่างๆ ก็ไม่มีโครงสร้างที่จัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดปัญหาท่อตัน น้ำท่วม การปรับโครงสร้างผังเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญในทุกๆ พื้นที่ กทม.”
เมื่อถามว่า “การปรับผังเมือง” จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไร? นายสรเทพ ระบุว่า จะทำให้สามารถกำหนดพื้นที่ เพื่อจัดโซนในการแก้ปัญหาได้ตรงจุด อย่างพื้นที่ไหนมีโรงงานอุตสาหกรรมมาก หรือการจราจรติดขัดเนื่องจากรถยนต์มีจำนวนมาก พื้นที่เหล่านี้ก็จะมีปัญหาในเรื่องของฝุ่น PM 2.5 รวมถึงยังต้องปรับปรุงกฎหมายบางตัวที่ล้าหลังทำให้ไม่สามารถจัดการได้ สิ่งเหล่านี้ต้องรีบดำเนินการเพื่อเป็นการป้องกันและรับมือในอนาคตที่เราอาจต้องเผชิญกับสภาวะอากาศแปรปรวนที่ส่งผลกระทบเพิ่มขึ้น

ดร.พรชัย มาระเนตร์ พรรคชาติพัฒนากล้า
“ต้องออกกฎหมาย หรือ ข้อกำหนด ให้เกิดการมีส่วนร่วม จึงจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้”
นี่คือสิ่งที่ ดร.พรชัย มาระเนตร์ ตัวแทนของพรรคชาติพัฒนากล้า มองว่า ส่วนหนึ่งของกฏหมายที่ล้าหลังในปัจจุบัน กลายเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบรุนแรงเพิ่มขึ้น ดังนั้นกฎหมายใหม่จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ที่ไม่ใช่เพียงแค่การให้องค์ความรู้เท่านั้น แต่ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่าพวกเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากนโยบาย หรือ ข้อกำหนด หรือที่เรียกว่า “อีโคโนมีสเปกตรัม” ที่จะเป็นการสร้างรายได้ ควบคุมไปกับการร่วมกันลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
“อย่างที่รัฐพยายามจะทำให้ทุกคนหันมาใช้รถ EV เพื่อลดมลพิษทางอากาศ แต่สวนทางกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยที่รัฐไม่ได้เข้าไปสนับสนุน หรือ วางแผนอย่างเป็นระบบหากมีการใช้รถ EV รถเก่าจะขายให้ใครในราคาที่สูง ส่งผลต่อธุรกิจเต็นท์รถมือสอง หรือแม้กระทั่งค่าประกันรถยนต์ไฟฟ้า ค่าอะไหล่ ค่าดูแลรักษา และค่าแบตเตอรี่ ที่ยังมีราคาสูงอยู่ สิ่งเหล่านี้จึงยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การจัดการด้านพลังงานในประเทศไทยไม่เป็นการยอมรับ หรือ ความร่วมมือจากประชาชน”
ดร.พรชัย ระบุว่า ข้อบกพร่อง ส่วนหนึ่งมาจากหน่วยงานที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ไม่สอดคล้อง หรือ ทำความเข้าใจกันกับผู้ที่ปฏิบัติตาม ทั้งการใช้ภาษาที่เป็นทางการเกินไป หรือการสื่อสาร ที่ไม่สื่อไม่ถึงผู้รับ ดังนั้นมองว่าจะต้องมีการปรับทั้งระบบ ทุกข้อกำหนดจะต้องนึกถึงความเป็นจริง และสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ และสิ่งสำคัญต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าทุกการลงทุนในทรัพยากรต่างๆ จะต้องคิดให้ครบรอบด้าน
เช่น โครงการสมาร์ทซิตี้เมืองอัจฉริยะ ที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดดูและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งมองว่าหากเราใช้กล้องตัวเดียวกันเพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และนำข้อมูลเพื่อแจ้งให้ประชาชนรับทราบ จะถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า และทำให้ประชาชนสามารถที่จะเข้าถึงปัญหาของสิ่วแวดล้อมมากขึ้น

วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา
“การที่ประเทศไทยจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม มันเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องเดินไปด้วยกัน ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าเราโยนภาระไปให้กับพี่น้องประชาชน ภาครัฐเองก็มีความรับผิดชอบที่จะต้องแก้ไข หามาตรการต่างๆ แต่ว่ามันจะต้องทำไปด้วยกัน มิฉะนั้นแล้วปัญหาเหล่านี้มันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องขยะ ที่สะสมทั้งใน กทม. และทั่วประเทศ”
ปัญหาเรื่องขยะ 1 ในปัญหาของ กทม. ที่นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา มองว่าจะต้องเร่งแก้ไขมากที่สุด ด้วยการลดใช้พลาสติก หรือ การนำกลับมาใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อไม่เพิ่มปริมาณขยะ ส่วนการออกข้อบังคับ หรือ มาตรการ จะต้องเป็นไปในทิศทางที่ทำให้ประชาชนตระหนักว่าสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ ควบคู่ไปกับมาตรการข้อบังคับอย่างเข้มงวดในการคัดแยกขยะจากครัวเรือนก่อนทิ้ง
“ปัญหาขยะ” ต่อเนื่องไปสู่ “ปัญหาน้ำเสีย” การตรวจคุณภาพโรงงานจึงต้องมีมาตรการเข้มงวดของการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ หากมีการฝ่าฝืนก็จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายลงโทษอย่างจริงจัง
เช่นเดียวกับ สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ใน กทม. กลับมารุนแรงหลังสถานการณ์โควิด เนื่องด้วยปริมาณยานยนต์กลับมาหนาแน่นอีกครั้ง โดยเฉพาะรถบรรทุก ที่แม้จะมีการตรวจจับรถควันดำแต่ก็ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีมาตรการลงโทษไปยังผู้ประกอบการที่เกิดความมักง่าย ขนานไปกับการผลักดันนโยบายการใช้รถ EV ให้เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายการขนส่งสาธารณะที่ต้องเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ภายใต้ความสะดวก รวดเร็ว และราคาถูก
นายวราวุธ ระบุว่า พรรคการเมืองมีส่วนสำคัญในการบริการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยการลงพื้นที่ของ ส.ส. ในการรับทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งก็จะทำให้การแก้ปัญหาได้เร็วขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน
“ผมคิดว่าวันนี้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมประเทศไทย การที่จะแก้สิ่งที่ยากที่สุดคือการ ‘เปลี่ยนทัศนคติของคน’ แต่หากไม่เร่งแก้ในวันนี้ อีกไม่เกิน 10 ปีจากนี้ไป มันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นไปจนถึงจุดที่เราไม่สามารถย้อนกลับ”

ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี พรรคเพื่อไทย
“ประเทศที่เจริญขึ้นเท่าไหร่ ความต้องการที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็ปรับสูงขึ้นเท่านั้น บนความต้องการที่อยากจะได้อะไรที่ดีกว่าเดิม สะอาดกว่าเดิม น่าอยู่กว่าเดิม จึงทำให้มนุษย์ที่เพิ่มขึ้น บวกกับเทคโนโลยี ยิ่งเป็นตัวไปทำลายมากขึ้นเท่านั้น จึงทำให้การแก้ไขเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องยากกว่าปกติ”
ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคฯ ได้มองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมใน กทม. และประเทศไทย เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไข โดยได้มีการวางแนวนโยบายตามแผนปฏิบัติการ 4 ข้อหลักๆ คือ แผนปฏิบัติการทางอากาศ ด้วยการผลักดันกฎหมายอากาศบริสุทธิ์ได้อย่างเท่าเทียมกัน ควบคู่ไปกับการลดฝุ่น PM 2.5 ภายในระยะ 5 ปี ,แผนปฏิบัติการทางทะเล เกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องของการแก้กฎหมายประมง เพื่อฟื้นฟูทะเลไทย ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ไปถึงเรื่องของโครงสร้างป้องกัน กทม. จากน้ำทะเลที่มีผลกระทบจากภาวะโลกร้อน,
แผนปฏิบัติการลดขยะ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ถูกสร้างเพื่อหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รวมถึงการยกเลิกมาตร 44 “ผังเมือง” ที่มีการตั้งโรงงานขยะเกินความจำเป็น จนทำให้กองขยะภูเขามากกว่า 2,000 กองทั่วประเทศ , และ แผนปฎิบัติการกรีน ด้วยการปลูกต้นไม้ สร้างพื้นที่สีเขียวใน กทม. เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ขณะที่การขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม มองว่า จะต้องแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ล้าหลัง ที่ไม่ได้ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน ทำให้ไม่สามารถเข้าไปคุมควบ ตรวจสอบกิจการต่างๆ ที่เป็นตัวก่อมลพิษได้ ดังนั้นการให้อำนาจกับหน่วยงานสิ่งแวดล้อมจะเป็นอีกหนึ่งนัยยะสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“อย่างเวลาที่โรงงานเกิดไฟไหม้ หรือสารพิษรั่วไหล เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษแทบจะไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ทันที ต้องรอเวลา และต้องได้รับอนุญาตจากโรงงาน หรือแม้กระทั่งโรงงานบางแห่ง ที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ว่ามีการปล่อยสารพิษลงสู่คลองสาธารณะ กว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบได้ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร แล้วอย่างนี้จะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร”

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์
“การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้เราต้องช่วยกันหามาตรการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และประเทศไทยนั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สูงสุดอันดับที่ 19 ของโลก”
การขับเคลื่อน พ.ร.บ. อากาศสะอาด” ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ หนึ่งในเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่จะทำให้การลดก๊าซเรือนกระจกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องเร่งทำ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า ประเทศไทย โดยเฉพาะ กทม. จะต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า เรือ รถเมล์
แต่ต้องมีมาตรการลดค่าโดยสารให้ถูกที่สุดเพื่อให้เกิดแรงจูงใจให้คนหันมาใช้รถสาธารณะ ควบคู่ไปกับการผลักดันการใช้พลังงานทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV พร้อมกับสนับสนุนให้มีจุดชาร์จไฟอย่างสะดวก รวมถึงการปรับใช้เทคโนโลยีนำมาปรับใช้ในการอนุรักษ์พลังงานด้านต่างๆ ด้วยการสร้างแอพพิเคชั่นควบคุมกลไกการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้
“ไม่ใช่มองแค่เพียงว่าก่อสร้างรถไฟฟ้าเพื่อความสะดวกของประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงไปถึงเรื่องของค่าบริการที่ให้ประชาชนรู้สึกคุ้มค่า เพราะแม้จะมีรถไฟฟ้ารองรับเพียงพอกับจำนวนคน แต่หากค่าโดยสารแพง ก็จะทำให้คนไม่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ”
ดร.สามารถ กล่าวว่า ขยะใน กทม. จำนวนมาก ยังสร้างมลพิษที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น เมื่อขยะกองสะสมกันจำนวนมากจะทำให้เกิดก๊าซมีเทน ที่มีผลต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า ดังนั้นต้องทำให้ประชาชนเห็นว่า “โลกร้อน” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ขณะนี้เริ่มอยู่ใกล้ตัวของเรามากขึ้น
“ส่งเสริมให้มีการออกแบบอาคารแบบประหยัดพลังงาน พัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบเศรษฐกิจสีเขียว ที่เป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนกันเป็นเศรษฐกิจแบบยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการออกแบบผังเมือง ระบบจราจร ที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียน มีการกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือน”