
สูตรสำเร็จอันคุ้นตาของโลกที่กำลังร้อนขึ้น ได้แก่ อุณหภูมิที่เพิ่มสูง อากาศร้อนที่กักเก็บความชื้นมากกว่าเดิม สภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรงขึ้น ธารน้ำแข็งละลาย ประชากรที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย และปัญหาความยากจน ปัจจัยเหล่านี้ในปากีสถานรวมกันก่อให้เกิดฝนตกหนักและ น้ำท่วม ที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก
นักวิทยาศาสตร์หลายคนมองว่าน้ำท่วมรุนแรงครั้งนี้มีองค์ประกอบซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของภัยพิบัติอันเกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างครบถ้วน แต่ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวโทษปัญหาโลกร้อน อีกทั้งภัยพิบัตินี้ยังเกิดขึ้นในประเทศซึ่งมีส่วนทำให้โลกร้อนน้อยเหลือเกิน แต่กลับเผชิญผลกระทบครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ต่างจากฝนที่กระหน่ำลงมาซ้ำๆ

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าปีนี้ปากีสถานมีปริมาณฝนมากที่สุดในรอบไม่ต่ำกว่า 3 ทศวรรษ จนถึงตอนนี้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 780% และสภาพอากาศสุดขั้วกำลังเกิดบ่อยครั้งมากขึ้นในภูมิภาคนี้ รวมถึงในปากีสถาน ซึ่งภัยพิบัติครั้งนี้รุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ปากีสถานจัดเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุดเป็นลำดับที่ 8 ทั้งฝน ความร้อน และธารน้ำแข็งละลาย ล้วนเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องซึ่งนักวิทยาศาสตร์เตือนให้เฝ้าระวังครั้งแล้วครั้งเล่า
แม้จะชี้ชัดว่าปรากฏการณ์ที่พบได้เหล่านี้จัดเป็นอัตลักษณ์ของปัญหาโลกร้อน แต่นักวิทยาศาสตร์ยังอยู่ระหว่างการศึกษาอย่างละเอียดเพื่อประเมินว่าหากไม่มีเรื่องโลกร้อนเข้ามาเป็นปัจจัยแล้ว สถานการณ์จะออกมาในรูปแบบใด การศึกษาดังกล่าวคาดว่าจะทราบผลในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าและจะเป็นเครื่องชี้วัดได้ว่าโลกร้อนเป็นปัจจัยของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือไม่ และมีผลมากน้อยแค่ไหน

รัฐมนตรีกระทรวงสภาพภูมิอากาศปากีสถาน ระบุว่า ปากีสถานคุ้นเคยกันดีกับมรสุมและฝนตกชุก แต่ปกติปรากฏการณ์เหล่านี้มักไม่เกิดขึ้นพร้อมกันมากๆ ในคราวเดียว แต่จะกระจายออกไปในระยะ 2-3 เดือนและมีช่วงที่ฝนหยุดตกบ้าง รวมทั้งไม่ได้มีปริมาณฝนมากเท่านี้ เช่นฝนตกที่เพียงวันเดียวมากถึง 37.5 เซนติเมตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศในรอบ 3 ทศวรรษถึงเกือบ 3 เท่าตัว โดยบางพื้นที่อย่างบาโลจิสถานและสินธุ์มีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 400% จนทำให้เกิด น้ำท่วม รุนแรง เขื่อนแตกอย่างน้อย 20 แห่ง
ก่อนหน้านี้ไม่นาน ปากีสถานเพิ่งจะประสบภาวะอากาศร้อนจัดไม่แพ้กัน เมื่อเดือนพฤษภาคม ปากีสถานเผชิญอุณหภูมิสูงเกิน 45 องศาเซลเซียสหลายครั้ง และบางพื้นที่ยังร้อนเกิน 50 องศาเซลเซียส เช่นที่จาโคบาบัด หนึ่งในเมืองที่ขึ้นชื่อว่าร้อนที่สุดในโลก ซึ่งอากาศร้อนจะกักเก็บความชื้นไว้มากกว่า โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นแต่ละองศาเซลเซียสจะมีความชื้นมากขึ้นประมาณ 7% ซึ่งจะสะสมจนกระทั่งพรั่งพรูลงมาในที่สุด

Michael Oppenheimer นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัย Princeton ระบุว่า พายุฝนฟ้าคะนองมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก และเทือกเขาอย่างเช่นที่มีในปากีสถานเป็นปัจจัยเสริมซึ่งทำให้มีความชื้นตกค้างอยู่ในพื้นที่มากขึ้นระหว่างที่เมฆพัดผ่าน
นอกจากที่ปากีสถานจะเผชิญกับน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากฝนที่ตกลงมามากเป็นพิเศษแล้ว ยังต้องประสบกับน้ำท่วมฉับพลันจากอีกสาเหตุหนึ่ง คือ น้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็งที่ไหลจากเทือกเขาหิมาลัยลงมายังปากีสถาน ซึ่งสภาพอากาศร้อนจัดเป็นตัวเร่งให้เกิดปรากฏการณ์นี้เร็วขึ้น และปากีสถานยังมีธารน้ำแข็งนอกแถบขั้วโลกมากที่สุดจึงรับผลกระทบไปเต็มที่แต่โลกร้อนก็ไม่ใช่สาเหตุเพียงหนึ่งเดียว
ปากีสถานเผชิญน้ำท่วมหนักในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วเมื่อปี 2010 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตร่วม 2,000 คน แต่รัฐบาลยังไม่มีแผนการป้องกันอุทกภัยในอนาคตอย่างการห้ามก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในเขตที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมหรือจุดที่ขวางทางน้ำ

บรรดานักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ต่างเห็นตรงกันว่าภัยพิบัติครั้งนี้เกิดขึ้นกับประเทศยากจนที่มีส่วนก่อปัญหาโลกร้อนเพียงเล็กน้อย เนื่องจากตั้งแต่ปี 1959 ปากีสถานปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นตัวกักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศเพียง 0.4% ขณะที่ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดนี้ถึง 21.5% และ 16.4% ตามลำดับ ทำให้อาจจะถึงเวลาแล้วที่ประเทศซึ่งร่ำรวยจากการใช้พลังงานฟอสซิลอันเป็นรากเหง้าของปัญหาจะต้องตระหนักว่าโลกเดินทางมาถึงจุดพลิกผันแล้ว ส่วนปากีสถานถูกบีบให้เผชิญสถานการณ์พลิกผันนั้นแล้วด้วยที่ตั้งและปัจจัยทางภูมิศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

(เรียบเรียงจาก EXPLAINER: Pakistan fatal flooding has hallmarks of warming