
สถานการณ์ น้ำท่วมในหลายจังหวัดในภาคอีสานช่วงนี้ นับได้ว่ามีความรุนแรงมากกว่าในปี 2562 โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี …..เพราะเหตุใด อะไรคือปัจจัยสำคัญ?
ผศ.ฤกษ์ชัย ศรีวรมาศ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้วิเคราะห์ให้ฟังถึงสาเหตุของ น้ำ ท่วมในปีนี้ (2565) ปัจจัยสำคัญในการที่ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในปี 2565 เนื่องจากในปีนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีประมาณเดือนพฤษภาคมจนมาถึงปัจจุบัน (7 ต.ค. 2565) ทำให้มีปริมาณฝนสะสมในปีนี้มีค่ามากกว่าปกติ และตกกระจายทั่วภาคอีสานทำให้มีปริมาณน้ำค่อนข้างมากจากพื้นที่ต้นน้ำไหลรวมมาที่จังหวัดอุบลราชธานีประกอบกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ของภาคอีสานคล้ายกับแอ่งกระทะโดยเฉพาะพื้นที่ตรงกลางอีสานเป็นที่ลุ่มต่ำเมื่อฝนตกลงมาในพื้นที่น้ำแทบจะทุกหยดจะไหลรวมกันมาที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจะเป็นจังหวัดปลายน้ำที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกๆ ปี นอกจากปริมาณน้ำจำนวนมากไหลมาที่จังหวัดอุบลราชธานีมาตามแม่น้ำชี และแม่น้ำมูลแล้วในส่วนบริเวณท้ายแม่น้ำมูลก็มีแก่งสะพือเป็นแก่งหินธรรมชาติขนาดใหญ่ยกตัวขวางการระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก (แต่ช่วยเก็บกักน้ำในแม่น้ำมูลในช่วงฤดูแล้ง) ทำให้การระบายน้ำออกสู่แม่น้ำโขงไม่สมดุลกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาในพื้นที่

อิทธิพลจากพายุ ตัวกระตุ้นให้เกิดน้ำท่วม
ผศ.ฤกษ์ชัย กล่าวว่า ภาคอีสานในทุกปีมักจะเจอกับอิทธิพลของพายุโซนร้อน ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก อย่างในปี 2565 อิทธิพลของลานีญา ทำให้มีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคมตกต่อเนื่องมาตลอดจนถึงเดือนตุลาคม ทำให้มีปริมาณฝนสะสมค่อนข้างมาก ส่งผลต่อระดับน้ำในลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล และในช่วงวันที่ 28 กันยายนเกิดพายุโนรูพัดเข้าพื้นที่อีสานส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำหลากเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้จังหวัดอุบลราชธานีมีน้ำท่วมสูง โดยคาดการณ์ว่าหากในเดือนตุลาคม ไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มระดับน้ำท่วมสูงสุดจะเกิดช่วงประมาณวันที่ 10-11 ตุลาคม ระดับน้ำสูงสุดประมาณ 116.45 ม.รทก. หรือที่ระดับความสูง 11.45 เมตร และระดับน้ำจะทรงตัวประมาณ 2 วัน และสถานการณ์ก็จะคลี่คลายในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน

การขยายตัวของเมือง
ผศ.ฤกษ์ชัย ยอมรับว่าการขยายตัวของเมืองที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกจังหวัดของภาคอีสาน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นที่รับน้ำ และชะลอน้ำหรือแก้มลิงในการรับน้ำหายไป อีกทั้งการเติบโตของเมืองกลายเป็นการกีดขวางทางน้ำ ที่ทำให้เมื่อเกิดฝนตกหนักจึงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

ประสิทธิภาพของการจัดการน้ำ?
ผศ.ฤกษ์ชัย มีมุมมองในการการบริหารจัดการน้ำในภาคอีสาน การบริหารจัดการน้ำของภาคอีสานยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะสังเกตเห็นว่าในช่วงฤดูฝนจะมีปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีค่อนข้างมากจนทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก พอเข้าสู่ฤดูแล้งก็เกิดการขาดแคลนน้ำในทุกๆ ปี ควรมีการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำโดยควรส่งเสริมให้มีการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลางเพิ่มมากขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งและยังเป็นการลดปริมาณมวลน้ำที่จะไหลลงมาสู่จังหวัดอุบลราชธานีในช่วงฤดูน้ำหลาก นอกจากนี้ควรมีระบบการพยากรณ์น้ำที่มีความถูกต้องและแม่นยำเพื่อเป็นข้อมูลให้กับหน่วยงานและประชาชนได้ทราบเพื่อวางแผนในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น จะสามารถลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
