Thailand Web Stat Truehits.net
เครื่องหมายอัศเจรีย์

บทเรียนสำคัญ ปรากฏการณ์ น้ำท่วม อีสานปี 65

ปี 2565 เป็นปีที่ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี ซึ่งเป็นสองสายน้ำหลักสำคัญของภาคอีสานเกิดปัญหา น้ำท่วม หนักตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำจนถึงท้ายน้ำ  ทั้งจากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำในภาคอีสานเกิดถี่ขึ้น ในลักษณะที่ฝนตกแช่นานทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมมาก และอิทธิพลของพายุโนรูที่พัดเข้าภาคอีสานแบบเต็ม ๆ ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนล่าง และลุ่มน้ำชีตอนล่าง  ทำให้เกิดน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสานเป็นบริเวณกว้าง  ในขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำหลายจังหวัดเกิดปัญหาน้ำท่วมขังอย่างยาวนาน เช่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ยโสธร มหาสารคาม ขอนแก่น เป็นต้น  

น้ำท่วม 1
เหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคอีสาน ปี 2565

เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับลุ่มน้ำอีสานในหลายพื้นที่ เช่น เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง  สมาคมคนทามลุ่มน้ำมูล เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ได้พยายามร่วมกันหาข้อมูล และสรุปบทเรียนร่วมกันเพื่อพิจารณาสาเหตุสำคัญของปัญหาน้ำท่วมอีสานในปี 65 ว่าเหตุใดจึงเกิดน้ำท่วมรุนแรงกว่าปีก่อน ๆ และสาเหตุร่วมประการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมน่าจะมีองค์ประกอบจากประเด็นใดบ้าง  รวมถึงการตั้งประเด็นในอนาคตว่าประชาชนคนอีสานจะจัดการสภาพปัญหาน้ำท่วมในอนาคตได้อย่างไร  ซึ่งทำให้เกิดข้อค้นพบจากการร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยที่น่าสนใจหลายประเด็นดังต่อไปนี้

สาเหตุประการสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำท่วมปี 65 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพฤติกรรมของฝนในพื้นที่อีสาน  หากเราพิจารณาถึงความถี่ของปัญหา น้ำท่วม อีสานในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเราก็จะพบว่า ในพื้นที่ภาคอีสานเกิดปัญหาน้ำท่วมถี่ขึ้น และน่าสนใจว่ามีจุดใหม่ ๆ ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซึ่งสัมพันธ์กับการเคลื่อนตัวของร่องความกดอากาศต่ำที่มีการขยับตัวจากแนวเดิม ในขณะที่พฤติกรรมการตกของฝนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นตกแบบแช่ และนาน ทำให้ปริมาณน้ำฝนสะสมสูงในหลายพื้นที่ ซึ่งมีทั้งฝนที่ตกเหนือพื้นที่เขื่อน และนอกพื้นที่กักเก็บของเขื่อน ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้มีความสำคัญมากกับการบริหารจัดการน้ำของอีสาน เพราะว่าปรากฏการณ์ได้ก่อให้เกิดสมมุติฐานว่า ณ วันนี้ ความรู้ และเทคโนโลยีการจัดการน้ำที่เรามีอยู่นั้นเพียงพอหรือก้าวทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพฤติกรรมของฝนในพื้นที่อีสานหรือไม่ อย่างไร ?  ถ้าความรู้และเทคโนโลยีในการจัดการน้ำที่เรามีอยู่ล้าสมัย  เราจะต้องทำอย่างไร ? 

น้ำท่วม 2
“การบริหารจัดการน้ำในอีสาน…..วันนี้ดีพอหรือยัง ?”  

เรื่องของปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่ปัญหาของขอบเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแต่เพียงลำพัง หากแต่ปัญหาน้ำท่วมเป็น “ปัญหาเชิงระบบ” ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของลุ่มน้ำนั้น ๆ  ในขณะที่องค์กรที่สัมพันธ์กับเรื่อง “น้ำ” ณ วันนี้ก็มีหลากหลายองค์กร ซึ่งหากองค์กรต่าง ๆ สามารถบริหารจัดการน้ำได้เต็มประสิทธิภาพจริง ปี 65 น้ำคงไม่ท่วมหนักและท่วมนานดังที่ปรากฏ  การสรุปบทเรียนร่วมกันของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับลุ่มน้ำอีสานพบว่า ปัญหาสำคัญของการบริหารจัดการน้ำในอีสานประกอบไปด้วย

1) การบูรณาการ การแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐยังไม่เต็มประสิทธิภาพมากนัก และขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง 

2) ความรู้ และเทคโนโลยีในการจัดการน้ำที่มีอยู่ปัจจุบันล้าสมัย เช่น เทคโนโลยีการจัดการน้ำโดยระบบเขื่อน และองค์ประกอบของเขื่อนที่มีการก่อสร้างมานานมากกว่า 30 ปี โดยยืนยันจากสภาพปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น และพิจารณาจากรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งมีการศึกษาทั้งในลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี ผลการศึกษาจากหลายเขื่อน พบว่า “เขื่อน” เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม และไม่สามารถตอบโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพฤติกรรมของฝน  ในขณะที่เทคโนโลยีการจัดการน้ำในระบบเขื่อน ในลุ่มน้ำอีสานได้ก่อให้เกิดปัญหาสำคัญกับระบบนิเวศลุ่มน้ำ และส่งผลกระทบกับพันธุ์ปลาและสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศลุ่มน้ำ เนื่องจากเขื่อนตามเทคโนโลยีการจัดการน้ำแบบเดิมถูกออกแบบก่อสร้างเป็นคอขวดขนาบด้วยคันพนัง โดยหลายเขื่อนไม่ได้ออกแบบให้สัมพันธ์สภาพนิเวศและวิถีชีวิตของสัตว์น้ำ รวมถึงการอพยพวางไข่ของปลา เช่น เขื่อนในลุ่มน้ำชีซึ่งไม่มีบันไดปลาโจน 

3) ลุ่มน้ำสาขาย่อย และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ที่ถูกละเลยและไม่ได้รับการพัฒนาดูแลเท่าที่ควร ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งทำให้ปัญหาน้ำท่วมอีสานปี 65 เกิดผลกระทบรุนแรงกว่าปกติ เพราะพบว่าในหลายพื้นที่ปัญหาน้ำท่วมหนักและรุนแรงเกิดจากอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่เต็มความจุอ่าง  หรือคันพนังกั้นน้ำไม่สามารถต้านทานปริมาณน้ำจำนวนมากได้ ทำให้พนังขาด อ่างรั่ว จนทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบรุนแรงทับซ้อนหลายทาง  

น้ำท่วม 3
“การเมืองในเรื่อง “น้ำ” ใครที่ได้ประโยชน์จากการจัดการน้ำ”  

ที่ผ่านมาเราพบว่าน้ำในมุมมองของหน่วยงานรัฐหลายๆ หน่วยงาน มักมองน้ำในฐานะของการเป็น “ทรัพยากร” ที่จะต้องพยายามจัดการ ควบคุม ดูแล  แม้แต่การแสวงหาผลกำไรจากทรัพยากรน้ำในมิติต่าง ๆ อย่างถึงที่สุด ในขณะที่น้ำก็เป็นทรัพยากรสำคัญมากที่มนุษย์นั้นใช้ในวิถีชีวิตประจำวันแบบขาดไม่ได้  ข้อสังเกตประการสำคัญในมุมมองเรื่องน้ำของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับลุ่มน้ำอีสานมีข้อสรุปร่วมกันว่า “น้ำ” ไม่ได้มีความหมายเพียงการเป็นทรัพยากร แต่ “น้ำคือวิถีชีวิต” น้ำนั้นสัมพันธ์กับวิถีการเกษตร  น้ำสัมพันธ์กับวิถีของการประมงพื้นบ้าน น้ำสัมพันธ์กับมิติความเชื่อและวัฒนธรรม ในระบบสังคม ระบบนิเวศ และระบบความเชื่อ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน บ้างเป็นกุศโลบายในการจัดการทรัพยากรร่วม บ้างเป็นประโยชน์เชิงนิเวศวิทยาชุมชนที่ส่งผ่านและเข้าใจมีท่าทีถ้อยทีถ้อยอาศัยในระบบนิเวศนั้น ดังนั้นแล้วการมีมุมมองต่อน้ำโดยแยกขาดจากมิติอื่น ๆ เพื่อที่จะมุ่งสร้างประโยชน์หรือกำไรสูงสุด จึงก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบนิเวศ ระบบสังคม  และระบบความเชื่อโดยภาพรวม การจัดการน้ำที่ยั่งยืนจึงควรต้องยึดโยงกับประชาชนเป็นสำคัญ 

น้ำท่วม 4
ความหวังของชาวบ้านต่อหน่วยงานรัฐในการแจ้งเตือนภัยพิบัติน้ำท่วม  

ที่ผ่านมาช่วงสถานการณ์น้ำท่วมอีสานปี 65 ทำให้เราเห็นจุดอ่อนในการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ ว่ายังมีช่องว่างในการส่งข่าวสารข้อมูลระบบเตือนภัยต่าง ๆ ให้ประชาชนได้เตรียมความพร้อมรับมือ ข้อมูลข่าวสารการเตือนภัยน้ำท่วมมีความล่าช้า บ้างเป็นหนังสือราชการแจ้งข่าวผ่านระบบขั้นตอนทางราชการ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ถึงมือประชาชนในพื้นที่  และส่วนหนึ่งอาจหมายรวมถึง ความรู้ ความสามารถในการคะเนหรือคาดเดาภัยพิบัติน้ำท่วมในสถานการฉุกเฉินของหน่วยงานยังมีข้อจำกัด  ปัญหาน้ำท่วมอีสานปี 65 พบว่าในหลายพื้นที่ประชาชนไม่สามารถเคลื่อนย้ายสิ่งของสำคัญทั้ง อุปกรณ์ไฟฟ้า  ยานพาหนะ เครื่องนอน สัตว์เลี้ยงฯลฯ หนีน้ำได้ทัน  ประชาชนในหลายพื้นที่ต้องใช้การแจ้งเตือนกันเองผ่านระบบไลน์ หรือเฟสบุ๊ค ในการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาน้ำท่วมช่วงที่ผ่านมา 

อนาคตคนอีสานจะอยู่กันอย่างไรภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพฤติกรรมฝนในอีสานที่เปลี่ยนแปลงไป ?

การเกิด น้ำท่วม-น้ำแล้ง แบบรุนแรงและหนัก มีโอกาสเกิดขึ้นได้แน่นอนในอนาคตอันใกล้ในห้วงเวลาต่อจากนี้ไป ทัศนะความเข้าใจต่อปัญหาน้ำ ภายใต้บริบทความรู้เดิม เทคโนโลยีการจัดการน้ำแบบเดิมของหน่วยงานภาครัฐจึงอาจจะไม่เพียงพอต่อการรับมือสภาพปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และแน่นอนว่าบทเรียนในอดีตได้บอกกับเรา ย้ำเตือนกับเราว่า โครงการบริหารและจัดการน้ำขนาดใหญ่สร้างแล้วได้ไม่คุ้มเสีย ดังเช่น โครงการ โขง ชี มูล ที่ภาครัฐได้ดำเนินการในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ซ้ำเติมชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล จวบจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่จุดหลักสำคัญของโครงการคือความพยายามในการ “การผันน้ำ” จากแม่น้ำโขงสายประธานเพื่อเข้าระบบลุ่มน้ำมูล และน้ำชี ซึ่งเห็นได้ว่าไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงกับระบบ และวิถีของลุ่มน้ำที่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังเห็นได้จากปัญหาน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำอีสานในแต่ละปีที่มีปริมาณการท่วมท้นล้นอ่าง จนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อสร้างระบบผันน้ำจากแม่น้ำโขงในปัจจุบัน  ดังนั้นความรู้ความเข้าใจที่ละเอียดอ่อนในเรื่องระบบนิเวศลุ่มน้ำ ชีพจรที่มีชีวิตของสายน้ำ รวมถึงระบบนิเวศวิทยาชุมชน  และกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจในการสร้างทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเป็นสิ่งสำคัญมากในการออกแบบการบริหารจัดการน้ำ ณ วันนี้ 

การรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมในอนาคตอันใกล้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้ชุมชนในพื้นที่น้ำท่วมได้ร่วมกันออกแบบ “แผนรับมือภัยพิบัติระดับพื้นที่” เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือกับปัญหาในอนาคต แผนดังกล่าวควรมีหน่วยงานส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพในการร่วมระดมความคิด เพื่อสร้างแผนในการเตรียมงบประมาณ เตรียมวิธีการ เตรียมกิจกรรม เตรียมการฟื้นฟูเยียวยาให้ครบทุกมิติสอดคล้องกับบริบทชุมชนและบริบทปัญหา ในขณะที่ภาพรวมของสังคมควรร่วมกันการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับเด็กรุ่นใหม่ผ่านระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน  และสร้างกลยุทธการสื่อสารให้ประชาชนทั่วไปให้เห็นและตระหนักรับรู้ว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของฝนนั้นเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นปัญหาใกล้ตัว ส่งผลกระทบถึงประชาชนทุกคน และประชาชนทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับสภาพปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งการสร้างกระบวนการรับรู้ร่วมกันในวงกว้างจะช่วยให้เกิดพลังสำคัญจากภาคประชาชนในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสภาพปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม-น้ำแล้งได้ในอนาคต ในขณะที่หน่วยงานของภาครัฐเองก็ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพิจารณาปัญหาในเรื่องน้ำให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุนแรงในปัจจุบัน

อาจารย์นิรันดร  คำนุ หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

แชร์