
วันที่ 31 พ.ค. ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยปีนี้ นับเป็นปีแรกที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้พยายามชี้ให้เห็นโทษของบุหรี่ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องสุขภาพแล้ว ยังมีมิติของการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย
จากข้อมูลของนักวิชาการพบว่าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากยาสูบนั้น ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลกระทบทำให้ดิน น้ำ และอากาศเสื่อมโทรม โดยยาสูบยังเพิ่มการผลิตขยะพลาสติกและขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากตัวกรอง บรรจุภัณฑ์ ซึ่งขยะเหล่านี้มีส่วนทำให้นกทะเล 1 ล้านตัวและสัตว์ทะเล 100,000 ตัว ตายจากมลพิษพลาสติกทุกปี จากการสำรวจพฤติกรรมการทิ้งขยะพบว่า ประมาณร้อยละ 65 ของผู้สูบบุหรี่ทิ้งก้นบุหรี่อย่างไม่เหมาะสม ก้นบุหรี่ซึ่งเป็นเศษของตัวกรองบุหรี่พลาสติกเป็นรูปแบบของขยะยาสูบที่มีสารก่อมลพิษและเป็นพิษอันดับต้น ๆ ที่พบในแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งก้นบุหรี่เหล่านี้ต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการย่อยสลาย และเป็นประเภทของขยะที่ถูกทิ้งมากที่สุดในโลก โดยก้นบุหรี่ทั่วโลกจำนวน 4.5 ล้านล้านชิ้นถูกทิ้งทุกปี และขยะจากก้นบุหรี่ประมาณ 2.5 พันล้านชิ้นต่อปีถูกพบในประเทศไทย
ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติชวนติดตามผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม ทั้ง ดิน น้ำอากาศ และ ในแง่ของการเพิ่มปริมาณขยะ ซึ่งมีต้นตอมาจากกระบวนการผลิตบุหรี่และยาสูบเพื่อเชิญชวนให้เกิดการตระหนักรู้ถึงโทษและตื่นตัวในการที่จะลด ละ เลิก พฤติกรรมการสูบบุหรี่



