เสวนา “ฝุ่นนอกรั้ว” ถอดบทเรียนฝุ่นศึกษา ที่ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ไทยพีบีเอส เปิดพื้นที่กลาง ให้ครูจากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 32 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM2.5 และครูจากพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบ เช่นครูจากจังหวัดเชียงราย ขอนแก่น เชียงใหม่ อุดรธานี ลำปาง รวม 66 คน
มาร่วมพูดคุย เพื่อนำข้อคิดเห็น ไปปรับเข้ากับรูปแบบการเรียนการสอน และต่อยอดความรู้ด้านฝุ่นศึกษาให้พัฒนาและเข้าถึงกลุ่มเด็ก เยาวชน ให้มีประสิทธิภาพ และให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยฝุ่น สำหรับเด็ก

กิจกรรมช่วงเช้า เริ่มต้นให้ครูทุกคน แบ่งกลุ่มตามหมวกสีต่างๆ เพื่อระดมความคิด
ตามหัวข้อที่ได้รับ เช่นหมวกสีแดง อารมณ์และความรู้สึก หมวกสีขาว ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ สังคม หมวกสีดำ ปัญหาและอุปสรรค หมวกสีเขียว เรียงลำดับความสำคัญของปัญหา หมวกสีเหลือง ข้อเสนอการแก้ปัญหา

ส่วนหนึ่งข้อคิดเห็นจากครูที่เข้าร่วมกิจกรรมมองว่า กิจกรรมเสวนา “ฝุ่นนอกรั้ว” นอกจากได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดในการปรับรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อสร้างการตระหนักรู้ ปัญหาฝุ่น PM2.5 กับครูโรงเรียนต่างๆ ยังได้ร่วมพูดคุยปัญหา และอุปสรรค เช่น ความร่วมมือของบุคลากรในโรงเรียน เพราะหน้าที่ของครูในโรงเรียนที่มีมากอยู่แล้ว ทำอย่างไรไม่ให้ครูรู้สึกว่า การทำให้นักเรียนเกิดองค์ความรู้ และตระหนักถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นงานที่เพิ่มขึ้นมา รวมไปถึงข้อเสนอแนะที่อยากให้จัดอบรม ที่นำไปสู่ความร่วมมือ

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พูดคุยเบื้องต้นมองเรื่องฝุ่นและการแก้ปัญหาฝุ่น เป็นหลักสำคัญของกทม. โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก พร้อมระบุว่า การบูรณาการ คือ ความท้าทายในโลกยุคปัจจุบัน วิชาชีวิต หลักสูตรต่างๆที่มี ควรทำอย่างไร
สำหรับกิจกรรมช่วงบ่าย ตัวแทนแต่ละหน่วยงาน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ,ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC), กรมควบคุมมลพิษ , องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ WWF มาแลกเปลี่ยนความรู้ และกิจกรรมที่เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 เช่นการแนะนำให้ครูเข้าถึงข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม และใช้เทคโนโลยี วิเคราะห์ภาพถ่าย จากฐานข้อมูลของจิสด้าที่เปิดให้ใช้สาธารณะ เพื่อนำไปประกอบการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง หรือปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน ที่ WWF รวมถึง ADPC ทำงานร่วมกับโรงเรียนประเทศเพื่อนบ้าน ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับครูในพื้นที่ได้
