
“ทุกวันนี้ชาวบ้าน ตกเป็นจำเลยทางสังคม ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่นควัน แต่ความจริงเผาไหม้ทุกอย่างทำให้เกิดฝุ่นควัน แค่ดาวเทียมตรวจจับไม่ได้” – ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ สภาลมหายใจเชียงใหม่
ประโยคนี้เป็นวลีที่ผู้เขียน ชื่นชอบหลังได้รับฟังจากการเข้าร่วมวงสนทนา “ ฝุ่น เหมือง เมือง ป่า ” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้คนรุ่นใหม่ออกมาสะท้อนปัญหา แลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ผ่านการเล่าเรื่องราวต่างๆ ในรูปแบบภาพยนตร์หนังสั้น ภายใต้แนวคิด “เสียงสะท้อนจากคนหลากกลุ่ม”

หนังสั้นถูกฉายออกจากเครื่องโปรเจคเตอร์ที่ตั้งอยู่กลางห้องโถงขนาดใหญ่ โดยมีผนังสีขาวเป็นฉากหลังและล้อมไปด้วยเก้าอี้จำนวนกว่า 20 ตัว คือจุดเริ่มต้นของการกิจกรรมในครั้งนี้
WHITE ANGEL หนังสั้นเรื่องแรกที่ถูกฉาย เล่าเรื่องราวหมู่บ้านแห่งหนึ่งกำลังจะเกิดภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วสองเด็กหนุ่ม ต้องหาทางช่วยคนในหมู่บ้านและพ่อของเขา จากนั้น SEL(L)FISH หนังสั้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาการขาดแคลนอาหารและภาวะการเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านการแสดงละครใบ้ ก็ถูกฉายเป็นลำดับถัดมา ตามด้วยหนังสั้นสะท้อนเรื่องราวผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านมุมมองจากคนในพื้นที่และการตั้งถามถึงอนาคต ความหวังของเชียงใหม่ ผ่านหนังสั้นเรื่อง ไฟ (FIRE) ยังมีหนังสั้นอีก 4 เรื่องที่ถ่ายทอดโดยคนรุ่นใหม่ที่สนใจเกี่ยวกับปัญหาเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เรียงแถวขึ้นฉายบนผนังสีขาว
หนังสั้นที่ฉายทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่ส่งเข้าประกวดในเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) ที่ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เมื่อปีที่แล้ว

บริบทหน้าห้องเปลี่ยน เครื่องโปรเจคเตอร์ถูกย้ายออก เก้าอี้ 5 ตัว ถูกนำมาจัดเรียงเป็นครึ่งวงกลม แทนที่นั่งของที่ปรึกษาโครงการหนังสั้นโลกป่วย ,ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ , ตัวแทนกลุ่มเฟมมินิสต์ ,ตัวแทนชาวบ้านต่อต้านเหมืองแร่และถ่ายหิน และ ตัวแทนผู้ผลิตสื่อ เป็นสัญญาณบอกว่าวงสนทนา “ ฝุ่น เหมือง เมือง ป่า ” กำลังจะเริ่มขึ้นและนั้นหมายถึงภาพรวมกิจกรรมในครั้งนี้ใกล้ถึงช่วงสุดท้ายแล้ว

“เมื่อเกิดปัญหาฝุ่นควัน ประชาชนจะเรียกร้องหาความรับผิดชอบได้จากใคร? ถ้าพูดถูกถึง ‘รัฐ’ คือหน่วยงานใด?” – มัจฉา พรอินทร์ กลุ่มเฟมมินิสต์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

คำถามนี้ เป็นประเด็นที่ผู้เขียนสนใจ เพราะเสียงสะท้อนของคนในพื้นที่ เล่าว่า บ่อยครั้งเมื่อเกิดปัญหาฝุ่นควันพื้นที่ภาคเหนือ คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นเพราะกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าป่า เพราะต้องการหาของป่า นั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นจำเลยทางสังคมทุกครั้งที่เกิดปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ให้ข้อมูลสนับสนุนในประเด็นนี้ด้วยว่า แท้จริงแล้วฝุ่นควันเหล่านี้ ไม่ได้มาจากภาคการเกษตรของคนในพื้นที่เพียงอย่างเดียว แต่การเผาไหม้ทุกอย่างล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่ง โรงงาน ชุมชนเมือง โดยเฉพาะฝุ่นจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือที่เรียกว่า ‘หมอกควันข้ามพรมแดน’ แต่สิ่งเหล่านี้ จุดความร้อน (Hotspot) ตรวจวัดไม่ได้

การตั้งคำถาม และเสียงสะท้อนของตัวแทนคนในพื้นที่ ที่เล่าผ่านวงสนทนาในครั้งนี้ เป็นเพียงแนวทางจุดประกายความคิดให้กับนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่นำไปต่อยอดเพื่อผลิตผลงานในรูปแบบหนังสั้น หรือสารคดี เพื่อถ่ายทอดและสื่อสารให้คนภายนอกเข้าใจ มองเห็นในมติที่ต่างออกไป ผ่าน เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน
