เครื่องหมายอัศเจรีย์

พบกรวดภูเขาไฟเกลื่อนชายหาด ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย

9 กุมภาพันธ์ 2565

พบกรวดภูเขาไฟเกลื่อนชายหาด ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย นักวิชาการ ระบุ จากภูเขาไฟอานัก กรากาตัว 3 ปีก่อน ยืนยันไม่มีอันตราย

กรณีพบ กรวดภูเขาไฟ (Pyroclastic) ถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง ตลอดแนวชายหาดทะเลสงขลา และยังพบบางส่วนบริเวณริมหาดในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และนครศรีธรรมราช “ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ นักธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เปิดเผยกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ เชื่อว่า กรวดภูเขาไฟที่พบน่าจะมาจากเหตุการณ์ปะทุของภูเขาไฟ “อานัก กรากาตัว” ที่อยู่ระหว่างตอนใต้ของเกาะสุมาตราและตอนเหนือของเกาะชวา ทางตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย ที่เกิดการปะทุเมื่อปี พ.ศ. 2561 มากกว่าจะที่เป็นกรวดภูเขาไฟที่ปะทุจากเหตุการณ์ภูเขาไฟใต้น้ำตองกา ในประเทศตองกา เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2565 หรือเมื่อเกือบ 1 เดือนก่อนหน้านี้

จากการวิเคราะห์ปัจจัยทางภูมิศาสตร์พบว่าภูเขาไฟ “อานัก กรากาตัว” ในประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากประเทศไทยประมาณ 2,490 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้มาก โดยเฉพาะพื้นที่ชายหาดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย สอดคล้องกับหลังเกิดการปะทุพบว่ามีเศษเถ้าและกรวดลอยน้ำเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเถ้าและกรวดบางส่วนที่มีน้ำหนักจะจมลงใต้ทะเล ส่วนที่มีน้ำหนักเบาก็จะลอยไปตามกระแสน้ำ อีกทั้งเมื่อคำนวนระยะเวลาของการปะทุกว่า 3 ปี ก็มีความเป็นไปได้สูงที่กรวดภูเขาไฟจะลอยน้ำมาถึงภาคใต้ของไทยได้ ขณะที่ภูเขาไฟตองกา อยู่ห่างจากประเทศไทยประมาณ 10,014 กิโลเมตร ด้วยเวลาเพียงแค่ 1 เดือน อีกทั้งยังมีหมู่เกาะต่างๆ ทางตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย ขวางกั้นอยู่ การที่เศษกรวดภูเขาไฟจากตองกาจะลอยมาถึงประเทศไทยจึงเป็นไปได้ยาก

กรวดภูเขาไฟ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือไม่?เมื่อถามถึงประเด็นนี้ ศ.ดร.สันติ บอกว่า กรวดภูเขาไฟเหล่านี้สร้างความอุดมสมบูรณ์ มากกว่าที่จะก่อให้เกิดอันตราย เพราะมีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้เร็ว บางพื้นที่ยังมีการนำกรวดเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในเรื่องของความงาม ด้วยการนำไปขัดผิวให้เกิดความเนียนนุ่ม ส่วนที่มองว่ากรวดภูเขาไฟที่ถูกพัดขึ้นชายหาดจะมีอันตรายหรือไม่นั้น ยืนยันว่า ไม่มีอันตรายกับคน สัตว์ หรือระบบนิเวศ เพียงแค่อาจจะทำให้รู้สึกไม่สบายตา และสภาพภูมิทัศน์ของชายหาดไม่น่าดูเท่านั้น

แชร์