Thailand Web Stat Truehits.net
เครื่องหมายอัศเจรีย์

ภัยคุกคามของปูเสฉวนบก

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง กรณียูทูปเบอร์ ลงคลิปจับปูเสฉวน จากหาด ไปเลี้ยง 15 ตัว และทำคลิปลงสื่อสังคมออนไลน์ ว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมเพราะในระบบนิเวศ  ปูเสฉวนเป็นเหมือนผู้ที่ทำให้ชายหาดสะอาด เนื่องจากเป็นตัวกำจัดซาก การจับไปทำให้ลดจำนวนลง เพราะในธรรมชาติขณะนี้ลดน้อยลงอยู่แล้ว   

ผศ.ดร.ธรณ์ ยังระบุว่า แม้จะไม่มีกฎหมายคุ้มครองปูเสฉวน ยกเว้นการจับปูเสฉวนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่มีความผิด ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ล่อหรือนำสัตว์ป่าออกไป หรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าด้วยประการใดๆ ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  แต่การนำปูเสฉวนจากธรรมชาติไปเลี้ยง ไม่ว่าจะให้กินแคลเซียมตามในคลิป หรือสร้างที่อยู่เสมือนจริง  ก็มีอัตราตายเกือบทั้งหมด ไม่เกิน 7 วัน เพราะน้ำ ทราย  ไม่เหมือนตามธรรมชาติ  

ปัจจุบันมนุษย์ชอบนำไปเลี้ยงและปูเสฉวนไม่สามารถขยายพันธุ์ได้จึงทำให้ปูลดน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะการวางไข่ของมัน คือการปล่อยไข่ลงทะเล ลอยน้ำเป็นแพลงก์ตอน ก่อนกลายเป็นลูกปูกระจายไปทั่ว ซึ่งการนำไปเลี้ยงนอกจากทำให้ปูตาย ไม่สามารถขยายพันธ์ุได้ รวมถึงทำลายระบบนิเวศ

การซื้อขายปูเสฉวนบก
ปูเสฉวนบกกำลังได้รับความนิยมในฐานะเป็นสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้เลี้ยงนิยมใช้สีทาบนเปลือกหอยให้เป็นสีสันและลวดลายต่าง ๆ ในประเทศไทย พบการซื้อขายกันราคาตัวละประมาณ 10 บาท ไปจนถึงตัวละกว่า 1,000 บาทก็มี ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของปูเสฉวนบก จากรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล ครั้งที่ 6 (One World One Ocean :New and More Values of the Seas) ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยบูรพา จ. ชลบุรี มีรายงานว่าพบปูเสฉวนบกถึง 3 ชนิดอาศัยอยู่รวมกันที่หาดเกาะกำใหญ่ จ.ระนอง ได้แก่ Coenobita brevimanus, Coenobita violascens และ Coenobita rugosus และกำลังถูกคุกคามจากการจับมาทำการซื้อขายอย่างมากบนเว็บไซต์
ที่มา กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง
สารพิษจากขยะทะเล ผลการศึกษาล่าสุดระบุว่าปูเสฉวนมากกว่า 500,000 ตัวตายลงเนื่องจากมลพิษพลาสติก นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแทสเมเนียและพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในลอนดอนพบว่า ปูซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตระกูลสัตว์จำพวกครัสเตเชียนนั้นตายหลังจากการถูกขังอยู่ในขยะพลาสติกบนเกาะเขตร้อนสองแห่ง เมื่อปูเสฉวนตายลงจะปล่อยกลิ่นสารเคมีออกมา ซึ่งจะดึงดูดปูเสฉวนตัวอื่นเข้ามาติดในขยะพลาสติกทำให้เกิดการตายเป็นลูกโซ่
ที่มา กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง
ไม่มีเปลือกหอยมาเปลี่ยน ปูเสฉวนต้องการเปลือกหอยเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย และใช้ป้องกันภัย ถึงแม้ว่าปูเสฉวนจะมีกระดองแข็งหุ้มตัวอยู่แต่มีส่วนท้องที่อ่อนนุ่ม ซึ่งหากปูเสฉวนบกอยู่นอกเปลือกหอยจะตายลงภายใน 24 ชั่วโมง ปูเสฉวนบกจะเจริญเติบโตด้วยการลอกคราบ แต่ละครั้งปูเสฉวนบกจะต้องเปลี่ยนเปลือกหอยให้ใหญ่ตามขนาดของร่างกาย มนุษย์มีการเก็บเปลือกหอยเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น ใช้เป็นเครื่องประดับ ของสะสม และของที่ระลึก รวมไปถึงการนำมาใช้กับงานก่อสร้าง ทำให้ปูเสฉวนหาเปลือกหอยที่มีขนาดเหมาะสมกับการเจริญเติบโตไม่ได้ จึงต้องไปอาศัยในขยะที่มนุษย์ทิ้งไว้ตามชายหาด เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้วแตก กระป๋องเหล็ก และกระป๋องอลูมิเนียม
ที่มา กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง

แชร์