ข้อเสนอยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 4/2559 นี้ เกิดขึ้นในเวทีทางออกปัญหามลพิษขยะอุตสาหกรรม ที่ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ เชิญภาคประชาชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมหารือเพื่อเป็นข้อเสนอนโยบายพรรค ในการแก้ปัญหาขยะอุตสาหกรรม
ช่วงแรก ผู้เข้าร่วมเวที ร่วมประเมินสถานการณ์ ผลกระทบ รวมถึงแนวทางแก้ปัญหามลพิษจากขยะอุตสาหกรรม โดยตัวแทนภาคประชาชนทั้งจากจังหวัดฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี มองตรงกันว่า คำสั่งคสช.ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ซึ่งคำสั่งดังกล่าวจะมีผลให้กิจการที่มีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้รับการยกเว้น และสามารถตั้งในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมได้ ทั้งกิจการโรงไฟฟ้า กิจการด้านพลังงาน และกิจการกำจัดและจัดการขยะจำนวนหลายร้อยโครงการทั่วประเทศ

“หน่วยงานภาครัฐขาดการกำกับดูแลตรวจสอบจริงจัง เป็นไปได้หรือไม่ นิคมอุตสาหกรรม ต้องมีโรงงานกำจัดของเสียอุตสาหกรรมด้วยตัวเอง ไม่ใช่มาทิ้งที่อื่น รวมถึงพื้นที่ใกล้ชุมชน ที่ชาวหนองแหน ประสบอยู่ ” จร นวโอภาส ตัวแทนชาวบ้าน อ.หนองแหน จ.ฉะเชิงเทรา

“ มีโรงงานประเภท 105 ขยะฝังกลบ 106 ขยะรีไซเคิล ตั้งอยู่นอกเขตพื้นที่อุตสาหกรรม ขยะเหล่านี้ส่งผล เรื่องกลิ่น ทั้งวันทั้งคืน บางโรงงานน้ำไหลออกไปทั่ว เวลาที่เกิดเหตุปนเปื้อน ล่าสุดคือ ซีเซียม 137 ได้รับผลต่อสุขภาพ และเศรษฐกิจ ไม่มีโรงงานใดออกมารับผิดชอบ ชาวบ้านทำอย่างไร กองทุนไม่มีเรื่องการบริหารเยียวยา ควรต้องมีกองทุน ถ้าเป็นรัฐบาลเวลาเกิดปัญหาต่างๆ ต้องมีกองทุนอย่างไร และใช้ให้ทันท่วงทีได้อย่างไร ” สุเมธ เหรียญพงษ์นาม ตัวแทนชาวบ้าน จ.ปราจีนบุรี
ขณะที่ภาคประชาชน นักวิชาการ เสนอทางออกคือการแก้กฎหมาย รวมไปถึงการมีหน่วยงานเฉพาะที่คอยดูแล กำกับอย่างจริงจัง เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เสนอว่า ทุกพรรคการเมืองไม่มีนโยบายสิ่งแวดล้อมชัดเจน และจับต้องได้ การเลือกตั้งครั้งนี้อยากเห็น และให้พรรคการเมืองให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อมเท่ากับ เรื่องเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา รวมถึงเรื่องอื่นๆ เพราะมองว่าถ้าสิ่งแวดล้อมมีปัญหา คุณภาพชีวิตจะมีปัญหา เพราะสิ่งแวดล้อมคือพื้นฐานที่สำคัญที่สุด
“นักการเมืองมีบทบาทสำคัญการทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเพราะข้อมูลเบื้องลึกในการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ต่างๆรวมถึงการคอร์รัปชั่น การมีกองทุนการแก้กฎหมาย … อยากให้มีข้อบัญญัติเป็นข้อกำหนดพรรคถ้าสมาชิกพรรคคนไหนกำลังละเมิดทำลายสิ่งแวดล้อมสิทธิชุมชนพรรคต้องสอบสวนดำเนินคดี อยากเห็นการปฏิรูปเชิงนี้ถ้าไม่มีตรงนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมจะเข้าไปอยู่ในหัวใจพรรคการเมืองยาก”

สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มองสถานการณ์สิ่งแวดล้อมอยู่ใน จุดวิกฤต โดยระบุ ข้อมูลกรมโรงงาน มีขยะอุตสาหกรรมต่อปี 17 ล้านตัน เป็นขยะอุตสาหกรรมอันตราย 4ล้านตัน 4 ปีที่ผ่านมา พบการลักลอบแอบทิ้ง 280 ครั้ง ทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหา คำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 และ พรบ.โรงงาน ปี 2562 “สิ่งสำคัญคือการแก้กฎหมายทำให้กฎหมายขยะเป็นฉบับเดียวกันทั้งหมดรวมถึงประเด็น Check and Balance นอกจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมคอยควบคุมกำกับดูแล ควรต้องมีอีกหน่วยงานดูแลเช่นที่สหรัฐอเมริกามี EPA ที่ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีเมื่อเกิดวิกฤตต่างๆเช่นฝุ่นพิษสามารถประกาศเขตภัยพิบัติหรือประกาศปิด”

ด้านตัวแทนพรรคการเมือง 5 พรรคที่เข้าร่วม ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พลังประชารัฐ พรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคไทยสร้างไทย เห็นด้วยกับภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ เห็นตรงกันว่าปัญหาขยะพิษ ขยะอุตสาหกรรม “ท้องถิ่นต้องมีอำนาจในการทบทวนทั้งการต่ออายุและอนุญาตให้มีโรงงานในพื้นที่ …. ควรมีกฎหมาย พรบ.เป็นการเฉพาะ มีหน่วยงานที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมดูแลเฉพาะคือ environmental protection agency และตั้งกองทุนชดเชยเยียวยาเพื่อมาดูแล และดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมาย นอกเหนือจากการเปลี่ยนกฎหมาย การที่มีกองทุนภาคประชาชนตรวจสอบเป็นสิ่งสำคัญ …” ดร.เดชรัต สุขกำเนิด พรรคก้าวไกล

“ควรแยกหน่วยงานออกจากกัน ไทยสร้างไทย มีนโยบายแช่แข็งใบอนุญาตกลุ่มทุน กองทุนฟื้นฟูมองว่าเอกชนไม่รับผิดชอบต้องประสานให้เอกชนกลุ่มทุนที่ได้รับเงิน ควรต้องมารับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญมาก .. กองทุนฟื้นฟูมองว่าเอกชนไม่รับผิดชอบต้องประสานให้เอกชนกลุ่มทุนที่ได้รับเงินควรต้องมารับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญมาก” ปริเยศ อังกูรกิตติ พรรคไทยสร้างไทย

“คำสั่งคสช. ที่4/2559 ต้องยกเลิกต้องกำจัด สนับสนุนนวัตกรรมสมัยใหม่นำกลับมาใช้และกำจัด ชุมชนต้องมีพื้นที่พิเศษเซฟโซนต้องมีการศึกษาจริงจังเช่นเรื่องขยะที่นำกลับมาใช้ไม่ทิ้งทั้งหมด มีระบบตรวจสอบย้อนหลัง ทราบที่มาและแหล่งกำเนิดผู้ผลิตต้องรับผิดชอบโดยรัฐมีกองทุนเงินจากรัฐและผู้ผลิตและผู้ขาย” ปลอดประสพ สุรัสวดี พรรคเพื่อไทย

“นโยบายขยะพิษต้องหมดไปพยายามไม่ให้ไทยเป็นประเทศปลายทางเอาขยะมาทิ้ง ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะ คำสั่งคสช.ที่ 4/2559 ที่บางโรงงานมาตั้งพื้นที่สีเขียวจะตั้งกองทุนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบรวมถึงการตรวจสุขภาพฟรีพื้นที่ใกล้โรงงาน ให้อำนาจเพิ่มกระทรวงทบวงกรม เช่นกรมควบคุมมลพิษไม่สามารถสั่งปิดโรงงานทันที ถ้าใช้กฎกระทรวงทันสมัยจะทำให้ทำงานได้เลยจะสร้าง การควบคุมขยะอุตสาหกรรมต้องทำอย่างยิ่งยวดทุกครั้งที่พบการเล็ดลอดปนเปื้อนเช่นแหล่งน้ำในชุมชน” รตอ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช พรรคพลังประชารัฐ

“ตัวชี้วัดของประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่นักการเมืองให้ความสำคัญสุขภาพประชาชนมากกว่าภาคธุรกิจ กฎหมายมาตรฐานอยู่ในระดับโลกไม่ล้าหลัง สิ่งสำคัญคือวิธีการคิด เอื้อให้เป็นธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงส่วนร่วม วิธีการแก้มี 3 ระดับ รุนแรงคือเอาเรื่องโซนนิ่งกลับเข้ามาหากไม่อยู่ในพื้นที่สีม่วงเอาออกจากพื้นที่ ระดับกลางทำให้คนอยู่ร่วมกับโรงงานโดยเอาเทคโนโลยีเข้ามาโดยปรับตัวเองเข้าสู่กรีนอีโคโนมี เข้าสถานการณ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระดับสุดท้าย เพิ่มต้นทุนให้สูง คือการเอาโรงงานไปตั้งในชุมชนสิ่งแวดล้อมดีให้เพิ่มภาษีสิ่งแวดล้อมเข้าไปและเป็นโมเดล มีการประเมินคนอนุญาตกับตรวจสอบต้องคนละคน แยกการรวมศูนย์ทิ้ง” พรชัย มาระเนตร์ พรรคชาติพัฒนากล้า