ภาพของ วิลเดอบีสต์ ฝูงมหึมาอพยพผ่านอุทยานแห่งชาติมาไซมาราในประเทศเคนยาเป็นภาพที่คนในพื้นที่คุ้นตามาหลายศตวรรษ แต่ในปัจจุบันจำนวนของวิลเดอบีสต์ที่อพยพมายังเคนยากลับลดลงอย่างมากจนเห็นได้ชัดหรือไม่พบอีกเลยในบางปี
ชาวบ้านบางคนกล่าวว่าหากฝกตกน้อยหรือไม่ตกเลย พวกเขาอาจจะไม่เห็นวิลเดอบีสต์อีกแล้วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

การอพยพย้ายถิ่นประจำปีของเหล่าวิลเดอบีสต์ ม้าลาย ละมั่งนับแสนตัวจากอุทยานแห่งชาติเซเรนเกตีในประเทศแทนซาเนียไปยังอุทยานแห่งชาติมาไซมาราในประเทศเคนยาถือเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์ของโลก
นักอนุรักษ์สัตว์ป่ากล่าวว่า โลกร้อนทำให้เหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ทางธรรมชาติที่ดึงดูดนักส่องสัตว์มาเยือนชมอุทยานในทุกๆ ปีตกอยู่ในอันตราย
สภาวะอากาศแปรปรวนที่มีสาเหตุมาจากภาวะโลกรวนได้ก่อให้เกิดภัยแล้งที่รุนแรงและถี่ขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นช่วงๆ และทำให้ระบบนิเวศในอุทยานมาไซมาราเปราะบาง จนทุ่งหญ้าซึ่งเป็นอาหารของวิลเดอบีสต์มีพื้นที่ลดลง
ปัจจัยดังกล่าวไม่เพียงแต่ทำให้สัตว์อพยพย้ายถิ่นไปเคนยาน้อยลง แต่ยังทำให้พวกมันใช้เวลาอาศัยอยู่ในเคนยาน้อยลงด้วย
งานวิจัยของ Joseph Ogutu นักสถิติอาวุโสจากมหาวิทยาลัย Hohenheim ในประเทศเยอรมนี และผู้เชี่ยวชาญด้านพลวัตรประชากรสัตว์ป่า ระบุว่า ปกติแล้วมีการอพยพของวีสเดอบีสต์ 4 ครั้งด้วยกันในพื้นที่ต่างๆ ของเคนยา แต่ตอนนี้เหลือเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น
การอพยพจากอุทยานแห่งชาติเซเรนเกตีมายังเคนยาเป็นเส้นทางเดียวที่เหลืออยู่ แต่อย่างไรก็ตามวิลเดอบีสต์มีจำนวนลดลงเหลือ 203,611 ตัวใน ปี พ.ศ. 2564 ลดลงเกือบ 60% จากปี พ.ศ. 2520
นอกจากนี้งานวิจัยยังระบุว่า ฝูงวิลเดอบีสต์ใช้เวลาอาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติมาไซมาราน้อยลงเช่นกัน หรือเหลือเพียงหนึ่งเดือนครึ่งจากเดิมที่อยู่นาน 4 เดือน

Joseph Ogutu กล่าวว่า ฝูงวิลเดอบีสต์มีจำนวนน้อยลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเพราะการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการสร้างรั้ว และการขยายตัวของฝูงปศุสัตว์ ล้วนขัดขวางฝูงวิลเดอบีสต์จากการหาอาหารในทุ่งหญ้า
ภาวะโลกรวนรบกวนการหาอาหารของวีสเดอบีสต์อย่างมาก หากมีภัยแล้งแม้แต่เพียงเล็กน้อย สัตว์ป่าจะไม่มีพื้นที่ในการหาอาหารอีกต่อไป คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2593 มีความเสี่ยงมากที่จะไม่เห็นการอพยพของวิลเดอบีสต์อีกต่อไปแล้ว หรืออาจเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนก่อนที่จะมีการประชุม COP27 ที่ประเทศอียิปต์ ซึ่งเหล่าผู้นำทั่วโลกร่วมกันหารือเรื่องการให้เงินช่วยเหลือของประเทศร่ำรวยให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกรวน

นักถางหญ้าแห่งทุ่งมารา
เคนยาเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงจากการท่องเที่ยวซาฟารีและชายหาดริมมหาสมุทรอินเดีย โดยสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ราว 2 ล้านคนต่อปีจากประเทศต่างๆ เช่น จีน อินเดีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อินเดีย และสหราชอาณาจักร
การท่องเที่ยวเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจเคนยา ซึ่งสร้างงานให้ประชากรกว่า 2 ล้านคน และคิดเป็นมูลค่าราว 10% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวไหนในเคนยาที่จะเห็นสิ่งนี้ชัดเจนเท่ากับอุทยานแห่งชาติมาไซมาราอีกแล้ว
อุทยานมาไซมาราครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,520 ตารางกิโลเมตร โดยวิลเดอบีสต์จะอพยพเข้ามายังอุทยานทุกปีในช่วงเดือนกรกฎาคมหลังฤดูฝน ข้ามแม่น้ำมารา ผ่านฝูงจระเข้ที่หิวโหยจากแม่น้ำไนล์
เมื่อพวกมันเดินทางถึงทุ่งหญ้าสะวันนามารา ฝูงวีลเดอร์บีสต์จะหากินและหาคู่ แล้วจึงเดินทางอย่างทรหดกลับอุทยานแห่งชาติเซเรนเกตีในเดือนตุลาคมเพื่อให้กำเนิดลูกน้อย ก่อนที่ฝูงวิลเดอบีสต์จะออกเดินทางอพยพตามวัฏจักรอีกครั้ง
นอกเหนือจากวิลเดอบีสต์จะสร้างเงินจำนวนหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับการท่องเที่ยวของเคนยาแล้ว พวกมันยังมีความสำคัญต่อการรักษาระบบนิเวศของอุทยานมาไซมาราอีกด้วย
บางครั้งวิลเดอบีสต์ถูกเรียกว่า “นักถางหญ้าแห่งทุ่งมารา” เพราะพวกมันกินหญ้าที่ขึ้นสูง และปล่อยให้สัตว์กินพืชอื่นกินหญ้าที่เตี้ยกว่า เช่น ม้าลาย และละมั่ง ซึ่งช่วยลดความถี่ของการเกิดไฟป่าเมื่อมีภัยแล้ง
ภัยคุกคามจากภาวะโลกรวน
แอฟริกากลางเป็นทวีปที่เปราะบางต่อภาวะโลกรวน โดยเคนยา เอธิโอเปีย และโซมาเลียต่างได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน ไม่ว่าจะเป็นภาวะภัยแล้ง ฝนตกหนัก และน้ำท่วม
ภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่เคยมีการบันทึกมาเมื่อปี พ.ศ. 2524 หลังจากที่ฝนน้อยติดต่อกันมา 4 ฤดูกาล โครงการอาหารโลกของยูเอ็นระบุว่า ประชากร 26 ล้านคนใน 3 ประเทศนี้กำลังเผชิญภาวะความอดยากอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ ภัยแล้งในอุทยานมาไซมารายังก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และสัตว์ผู้ล่า
Kasaine Sankan นักวิจัยอาวุโสจากโครงการอนุรักษ์สัตว์ผู้ล่าแห่งทุ่งมารา กล่าวว่า ภัยแล้งทำให้สัตว์กินพืชแสวงหาทุ่งหญ้าและอาหารเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ เป็นเหตุให้สิงโตที่ตามสัตว์เหล่านี้เข้าไปกินฝูงปศุสัตว์ของมนุษย์
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้สมาชิกชุมชนแก้แค้นด้วยการฆ่าสิงโตเพื่อรักษาชีวิตฝูงปศุสัตว์เอาไว้
Kasaine กล่าวเพิ่มเติมว่า ภัยแล้งทำให้ฝูงปศุสัตว์ในอุทยานรุกล้ำพื้นที่อนุรักษ์ ส่งผลให้สัตว์กินพืช เช่น วิลเดอบีสต์ มีหญ้ากินน้อยลง
จากการสนับสนุนของ WWF Kenya ชุมชนบางแห่งพยายามปรับตัวด้วยการลดจำนวนการเลี้ยงปศุสัตว์ แกะ และแพะ แล้วหันมาเลี้ยงสัตว์ที่สามารถทนภัยแล้งได้แทน
นอกจากนี้พวกเขายังสร้างเขตปลอดผู้ล่าขึ้น ด้วยการล้อมรั้วติดตั้งไฟ เครื่องปั๊มน้ำ และจัดพื้นที่ให้สัตว์กินหญ้าโดยเฉพาะในชุมชน

เจ้าหน้าที่โครงการของ WWF Kenya กล่าวว่า ขณะที่ภาวะโลกรวนก่อให้เกิดน้ำท่วมและภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุ่งมารา ผลกระทบต่อการอพยพของฝูงวิลเดอบีสต์จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อโลกในวงกว้าง
ทั้งนี้ ผลกระทบที่เคนยาได้รับนั้นมีความสาหัสมาก เมื่อคำนึงถึงว่าประเทศในทวีปแอฟริกาต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก ทั้งที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 3% เท่านั้น
เจ้าหน้าที่ WWF Kenya ยังกล่าวอีกว่า ผู้นำโลกที่ร่วมการประชุมเรื่องสภาพภูมิอากาศอยู่ขณะนี้ จำเป็นต้องเคารพคำมั่นที่ให้ไว้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 อีกทั้งต้องสร้างภูมิต้านทานให้กับชุมชนและระบบนิเวศ ด้วยการปกป้องแหล่งที่อยู่ทางธรรมชาติ และให้เงินสนับสนุนประเทศต่างๆ ในการปรับตัว
เขาย้ำว่า หากมนุษย์ไม่ทำอะไรสักอย่างภายใน พ.ศ. 2593 พื้นที่อนุรักษ์เหล่านี้ อาทิ ระบบนิเวศทุ่งมาราใหญ่ จะมีความเปราะบางอย่างมาก และอาจไม่สามารถคงสภาพที่เป็นอย่างปัจจุบันไว้ได้อีก