เครื่องหมายอัศเจรีย์

มหันตภัย โรคใบด่างมันสำปะหลัง

เมื่อพูดถึงมันสำปะหลัง  วัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ  และยังเป็นผลผลิตส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย  ทว่าในช่วง 5 ปีนี้  เกษตรกรต้องเผชิญกับโรคระบาดที่เรียกว่า “โรคใบด่าง”  เกิดจากเชื้อไวรัส Cassava Mosaic Virus พบการระบาดครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศเวียดนามและกัมพูชา  ก่อนที่ในปี 2561 จะพบการระบาดหลายจังหวัดของประเทศไทย 

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช  ในฐานะทีมวิจัยโครงการการประเมินผลกระทบและความคุ้มค่าของการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อลดการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังของประเทศไทย  ระบุว่า  การระบาดรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา  ส่วนหนึ่งมาจากการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังข้ามจังหวัด  โดยที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าท่อนพันธุ์มีการติดโรค  เมื่อเกษตรซื้อท่อนพันธุ์ไปปลูกจึงทำให้มีการขยายพื้นที่การระบาดอย่างรวดเร็ว  อีกทั้งยังมี “แมลงหวี่ขาวยาสูบ” เป็นพาหะของการแพร่จากต้นสู่ต้น   แม้ที่ผ่านมาจะมีการสั่งให้เกษตรกรทำลายต้นที่ติดเชื้อ  แต่ปัจจุบันการระบาดก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง  

นั่นเพราะท่อนพันธุ์ที่มีการจำหน่าย จะเป็นท่อนพันธุ์ที่ไม่มีใบ  การสังเกตจึงเป็นไปได้ยาก เพราะจะรู้ว่าท่อนพันธุ์ติดเชื้อก็จะต้องรอให้มีใบงอกเจริญเติบโต  ที่จะมีลักษณะใบด่างและหงิก เสียรูปทรง หรือใบย่อยบิดเบี้ยวหงิกงอ  โค้งเสียรูปทรง ใบอ่อนและใบที่เจริญใหม่มีขนาดเล็กลง ยอดหงิก ต้นแคระแกร็น  

รศ.ดร.วิษณุ  ระบุว่า  การนำอาสาสมัครทีมวิจัยลงพื้นที่ในหลายจังหวัดเพื่อสอบถามปัญหากับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง  เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปวิจัยเพื่อเร่งหาสาเหตุและการแก้ปัญหากับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  หรือ สวทช. เพื่อเร่งช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร็วที่สุด  ไม่เช่นนั้นในอนาคตท่อนพันธุ์สะอาดจะหายาก และจะกระทบตั้งแต่ระบบต้นทางถึงปลายทาง  ทั้งเกษตรกรผู้ปลูก และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ความรุนแรงของโรคใบด่างในช่วง 1-2 ปีมานี้ จะพบต้นที่เพิ่งเริ่มแตกใบก็เกิดการติดเชื้อโรคใบด่างแล้ว ส่งผลให้การเจริญเติบโตของหัวมันสำปะหลังลดลงทันทีเพราะใบมันสำปะหลังมีผลเกี่ยวเนื่องในการสร้างหัวมัน
ปกติเวลาปลูกมันสำปะหลัง เกษตรกรจะใช้ท่อนพันธุ์ที่มีการสั่งซื้อเข้ามาปลูกลงดิน และบางส่วนก็ใช้ท่อนพันธุ์เดิมที่เคยปลูกในปีก่อน แต่กลับพบว่าท่อนพันธุ์บางส่วนที่ได้มีการคัดเลือกไว้กลับมีการติดเชื้อโรคใบด่าง
การระบาดเมื่อ 3-4 ปีก่อน รัฐบาลได้มีการสั่งทำลายท่อนพันธุ์ที่ติดเชื้อ ด้วยวิธีฝังกลบ เพื่อลดการระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ แต่สุดท้ายปัจจุบันก็ยังมีท่อนพันธุ์ติดเชื้อกระจายอยู่ในหลายจังหวัด
ท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง วางกองอยู่หน้าบ้าน เตรียมที่จะนำไปปลูกลงดิน ซึ่งก็ต้องลุ้นว่าในช่วงของการเจริญเติบโตท่อนพันธุ์เหล่านี้จะแสดงอาการติดเชื้อมากน้อยเพียงใด
ต้นมันสำปะหลังที่อายุประมาณ 2 เดือน จะเห็นได้ว่าต้นที่ติดโรคใบด่าง (วงกลมสีแดง) มีขนาดหัวมันที่เล็ก และจำนวนน้อยมาก

แชร์