
GISTDA (จิสด้า) เผยข้อมูลล่าสุด พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 632 จุด จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 115 จุด จังหวัดเชียงใหม่ 44 จุด และจังหวัดพิษณุโลก 43 จุด ขณะที่พื้นที่เกษตรพบ 228 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 175 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 117 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 52 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 43 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 17 จุด
จากภาพยังทำให้เห็นจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพบจุดความร้อนเล็กน้อยเนื่องจากมีฝนตกจากพายุฝนฟ้าคะนอง จากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม– 27 มีนาคม 2565 พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจุดความร้อนแล้ว 11,826 จุดตามด้วยภาคเหนือ 11,228 จุด และภาคกลาง 6,671 จุด
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยถึงปัจจัยหลักที่ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่เผชิญกับจุดความร้อน ไฟป่า การเผาในที่โล่ง และฝุ่น PM2.5 สอดคล้องกับข้อมูลที่พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม-กลางเดือนมีนาคม 2565 มีจุดความร้อนสะสมกว่า 2,281 จุด มีค่าสูงสุดที่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน 681 จุด รองลงมา อ.ปาย 482 จุด และ อ.แม่สะเรียง427 จุด พบจุดความร้อนเกิดขึ้นสูงสุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ถึง 1,369 จุด รองลงมาเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
นายสนธิ ระบุว่า สาเหตุสำคัญเนื่องจากพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นภูเขาล้อมรอบตรงกลางเป็นแอ่งกระทะ ประกอบกับทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่ป่าถึง 90% และเป็นป่าผลัดใบ เช่น ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ เมื่อถึงฤดูหนาวใบไม้ก็จะร่วงหล่นลงพื้นสะสมเป็นใบไม้แห่งจำนวนมาก ช่วงฤดูร้อนจึงกลายเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดการลุกไหม้ได้ ประกอบกับลมแรงจึงทำให้ไฟลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่ไฟป่ายังเกิดจากการที่ประชาชนเข้าป่าล่าสัตว์ หาผักหวานเก็บเห็ดเผาะ ทำให้บางคนจุดไฟเพื่อเคลียร์พื้นที่ให้ผักหวานแตกยอดและเห็ดเผาะขึ้นได้ง่าย
นอกจากนี้ยังเกิดจากความขัดแย้งในการเพาะปลูกพืชใกล้กับเขตป่าอนุรักษ์ประชาชนต้องการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ทำนาปลูกข้าวเป็นต้น แต่ทางราชการไม่อนุญาตเนื่องจากเกรงว่าเมื่อถึงช่วงการเก็บผลิตผลแล้ว ประชาชนจะมีการเผาตอซัง ฟางข้าว แล้วเกิดไฟลุกลามเข้าป่าจะดับยาก ทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่พอใจ ไม่ให้ความร่วมมือ และบางส่วนแกล้งเผา ขณะที่หมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ช่วงนี้ลมพัดมาทิศใต้ และตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้หมอกควันจากการเผาตอซังฟางข้าวลงมาที่ภาคเหนือของประเทศไทย ทำให้เกิดปัญหากมลพิษฝุ่น PM2.5