ในเวทีการประชุม COP27 ที่ประเทศอียิปต์ ตัวแทนจากประเทศและหน่วยงานทั้งหลาย ต่างมีผลการวิจัยจากหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศของยูเอ็นที่ศึกษาถึงสถานการณ์ภาวะโลกร้อนตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาเป็นเอกสารช่วยประกอบการตัดสินใจต่างๆ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ตีพิมพ์รายงานที่ให้ข้อมูลผลศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาเหตุ และผลกระทบที่เกิดขึ้นทุกรอบ 5 ปี เมื่อปีที่แล้วรายงานได้ระบุถึงปัจจัยหลักของภาวะโลกร้อนและสารัตถะของวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ

ในปีนี้ คณะกรรมการได้ตีพิมพ์รายงานที่สำคัญอีกสองฉบับ โดยฉบับหนึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุถึงความจำเป็นที่โลกต้องปรับตัวรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกรวน ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ไปจนถึงประชากรสัตว์ป่าที่ลดลง และอีกฉบับหนึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระบุถึงแนวทางการลดการปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เนื้อหาต่อไปนี้คือสาระสำคัญจากรายงานเหล่านี้
มนุษย์มีส่วนรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว
- รายงานเมื่อปีที่แล้วซึ่งมีเนื้อหาถึงลักษณะทางกายภาพของภาวะโลกร้อนระบุว่า มนุษย์เท่านั้นที่มีส่วนทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น
- รายงานยังระบุว่าภาวะโลกรวนกำลังเข้าใกล้ภาวะที่เหนือการควบคุมอย่างน่ากลัวในอีกไม่ช้า
- สภาพอากาศสุดขั้วที่นานๆ จะเจอครั้งกลับกลายเป็นเหตุการณ์ที่พบได้บ่อยครั้งขึ้น และบางภูมิภาคมีความเปราะบางต่อสภาวะดังกล่าวมากกว่าภูมิภาคอื่น
- เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนรายงานเรียกร้องให้มีการลดการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างเร่งด่วน ก่อนหน้านี้ IPCC ให้ความสนใจแต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น เนื่องจากเป็นก๊าซเรือนกระจกที่พบมากที่สุด
- ขณะที่เวลาในการหยุดยั้งภาวะโลกรวนใกล้จะหมดลง ผู้เขียนรายงานให้ความเห็นว่าอาจถึงเวลาแล้วที่มนุษย์จะพิจารณาข้อดีและข้อเสียของวิศวกรรมธรณี หรือการแทรกแซงโดยมนุษย์ในระดับกว้าง เช่น การปล่อยอนุภาคเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อยับยั้งแสงจากดวงอาทิตย์เข้าสู่โลก
- รายงานยังระบุว่า ประเทศทั้งหลายรวมถึงประเทศที่ร่ำรวยที่สุด จำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกรวนและปรับตัวเพื่ออยู่ในโลกที่ร้อนขึ้น

มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องปรับตัวรับมือคลื่นความร้อนพายุและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล
- การรุกรานยูเครนของรัสเซียกลบข่าวการออกรายงานของ IPCC ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรายงานที่มีเนื้อหาว่าโลกต้องเตรียมตัวรับมือกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างไร
- หลังจากภาวะโลกรวนก่อให้เกิดสภาพภูมิอากาศสุดขั้วทั่วโลก รายงานแนะนำให้ประเทศร่ำรวยและยากจนเริ่มปรับตัวในตอนนี้เพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงคลื่นความร้อน พายุที่รุนแรงขึ้น และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น
- รายงานได้ระบุอย่างชัดเจนว่าแต่ละภูมิภาคต่างเผชิญความเสี่ยงที่แตกต่างกัน และได้คาดการณ์ถึงสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่
- คนหลายล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับความอดอยาก และความไม่มั่นคงทางอาหารในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะโลกรวนทำลายผลผลิตและแหล่งน้ำ อีกทั้งยังอาจกระทบการค้าและตลาดแรงงานในอีกไม่ช้า
- การคาดการณ์ถึงสถานการณ์อันน่าสะพรึงกลัวที่จะเกิดขึ้นกับประเทศยากจนนี้ทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชย “ความสูญเสียและความเสียหาย” จากประเทศร่ำรวยอีกครั้ง เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่ประเทศยากจนต้องเสียไปกับภัยพิบัติที่เกิดจากภาวะโลกรวน
ทั้งนี้ ในการประชุม COP27 เป็นครั้งแรกที่มีการระบุเรื่องการชดเชยความสูญเสียและความเสียหายจากภาวะโลกรวนเข้าในวาระการประชุมอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก

“ทำตอนนี้หรือไม่มีทางอีกแล้ว” ความเคลื่อนไหวในระดับปัจเจกมีความสำคัญ
- ประธานผู้ร่วมเขียนรายงานคนหนึ่งกล่าวว่า มนุษย์มีทางเลือกว่าจะ “ลงมือทำตอนนี้ หรือไม่มีทางอีกต่อไปแล้ว” ระหว่างการเผยแพร่ผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากในระยะไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าเท่านั้นที่จะช่วยหยุดยั้งภาวะโลกร้อนให้ไม่ทวีความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป
- รายงานได้ให้รายละเอียดสถานการณ์ที่เป็นไปได้ต่างๆ อันเป็นผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น
- รายงานยังระบุว่าเมืองเป็นปัญหาหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่แห่งความหวังและแนวทางแก้ไขปัญหา
- การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงงานทดแทนและพลังงานสะอาดเกิดขึ้นอย่างล่าช้าเกินไป
- รายงานยังไปไกลกว่าประเด็นเรื่องพลังงานฟอสซิสและภาคการผลิต โดยเรียกร้องให้มีการทำการเกษตรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- รายงานได้เตือนว่าภาวะโลกรวนจะทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจ และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการกระทำในระดับปัจเจก อีกทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลออกนโยบายที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและการขนส่งเพื่อลดปริมาณขยะ
ที่มา : https://www.reuters.com/business/cop/what-latest-ipcc-science-says-about-climate-change-2022-11-05/