
รู้หรือไม่…. จากการวิเคราะห์ข้อมูล IQAir ของ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ในปี 2564 ฝุ่น PM 2.5 เป็นตัวการที่อาจก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยราว 29,000 คน นอกจากนี้ยังพบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศในประเทศไทยของปีที่ผ่านมา มีมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน การใช้ยาเสพติด และการฆาตกรรมรวมกัน
ในปี 2564 มลพิษทางอากาศอาจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอันดับต้น ๆในประเทศไทย และความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ต่อปี สูงกว่าค่าแนะนำที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้อย่างมาก
โดยค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM 2.5 ประจำปี 2564 ตามรายจังหวัดของประเทศไทย อยู่ในระดับสูงเกินค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกถึง 4 เท่า โดยหากความเข้มข้นของค่า PM 2.5 ในประเทศไทยเป็นไปตามค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO จำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษ PM 2.5 จะมีแนวโน้มลดลงถึงร้อยละ 77
รายงานระบุว่า ปี 2564 ความเข้มข้นของค่าฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร ทุกเดือน โดยเฉลี่ยสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายปีของ WHO และสูงจากค่าเฉลี่ยรายปีของค่าแนะนำของ WHO ถึง 9 เท่าในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีมลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดในรอบปี นอกจากนี้ รายงานยังพบอีกว่า มลพิษทางอากาศอาจมีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 4,400 คน ในเขตเมืองเมื่อปีที่ผ่านมา และอาจทำให้ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ สูงขึ้นร้อยละ 13 .
ขณะเดียวกัน ทุกจังหวัดที่ทำการศึกษา พบว่าระดับมลพิษทางอากาศมีมากที่สุดอยู่ในจังหวัดแพร่ ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ต่อปี ในจังหวัดดังกล่าวเกินเกณฑ์ค่ามาตรฐาน PM2.5 ของประเทศไทย และเกินเกณฑ์ค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกมากกว่า 6 เท่า อีกทั้งบางจังหวัดในประเทศไทยยังไม่มีสถานีวัดคุณภาพอากาศเพียงพอที่จะรวมเข้าไปอยู่ในการศึกษาวิจัยนี้ได้
มลพิษทางอากาศยังถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนมีนาคม ซึ่งมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 50 ของการรับสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ตลอดทั้งปี โดยในช่วงเวลา 3 เดือนนี้ สภาพอากาศไฟป่า และการเผาในพื้นที่การเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ทำให้มลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้น นอกเหนือจากการปล่อยมลพิษทางอากาศจากการจราจรบนท้องถนนอุตสาหกรรม และกิจกรรมการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก Greenpeace Thailand