
รู้หรือไม่… มนุษย์มีส่วนทำให้เกิดภัยพิบัติเพิ่มมากขึ้น ทั้งภัยพิบัติขนาดกลาง และขนาดใหญ่ประมาณ 350-500 ครั้งต่อปี ซึ่งได้เกิดขึ้นไปทั่วโลกแล้วในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และคาดว่าในปีต่อๆ ไป จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันบ่อยและรุนแรงขึ้น
ข้อมูลดังกล่าว สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ(UNDRR) ได้เปิดเผยในรายงานว่า จำนวนภัยพิบัติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เช่น ไฟไหม้และน้ำท่วม หรืออัคคีภัย ซึ่งการคำนวณครั้งนี้ยังรวมไปถึงอันตรายอื่นๆ ด้วย เช่น โรคระบาดหรืออุบัติเหตุทางเคมี ที่อาจทำให้เกิดสูงถึง560 ครั้งต่อปี หรือเฉลี่ย 1.5 ครั้งต่อวัน ภายในปี ค.ศ. 2030 ผู้คนหลายล้านชีวิตตกอยู่ในอันตราย โดยกิจกรรมของมนุษย์มีส่วนเพิ่มจำนวนภัยพิบัติโลก
รายงานล่าสุดยังระบุด้วยว่า เอเชียแปซิฟิกจะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติหนักที่สุดสูญเสีย GDP ร้อยละ 1.6 ต่อปี และประเทศต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติไม่เท่ากัน กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วโดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาสูญเสีย GDP เฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วสูญเสีย GDP ร้อยละ 0.1-0.3 ต่อปี
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นภัยพิบัติธรรมชาติ อย่างเช่นน้ำท่วม และไฟป่า แต่มีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change แต่การตัดสินใจของมนุษย์ในการรับมือปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงนั้น กลับแก้ปัญหาอย่างคับแคบเกินไป และยังมองในแง่ดีมากเกินไป เกี่ยวกับอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติ ทำให้ขาดการเตรียมตัวรับมือที่พร้อม เมื่อภัยพิบัติยังหนักหน่วงขึ้นอีก และประชากรขยายตัวเพิ่มขึ้นในพื้นที่ เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ