
“ทราย” สิ่งพื้นฐานที่สามารถพบเห็นได้แทบทุกที่ ทั้งยังเป็นส่วนผสมสำคัญในงานก่อสร้าง คอนกรีต แอสฟัลต์ (ยางมะตอย) เป็นส่วนประกอบสำคัญในแก้ว กระจกขวด และเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตไมโครชิปจากซิลิกอนไดออกไซด์ที่สกัดจากทราย สำหรับใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
………ทรัพยากรที่มนุษย์คิดว่าจะไม่มีวันหมด แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะจากรายงานฉบับใหม่ของ UNEP ยืนยันว่าทรายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติกำลังจะหายไป
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ตีพิมพ์รายงานฉบับใหม่ กล่าวถึงบทบาทของทรายทั่วโลก ท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการขยายตัวของเมือง และการเติบโตของประชากรมนุษย์ ทั้งยังเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่ถูกนำมาใช้งานมากที่สุดในโลก จนทำให้กระบวนการทางธรณีวิทยาไม่สามารถผลิตทรายขึ้นได้ทัน
“ทราย” มักถูกมองว่ามีอย่างไม่จำกัด ทำให้มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่นั่นไม่ใช่ความจริงๆ ทรายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้น มีจำกัดและไม่สามารถหมุนเวียนใหม่ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ และเราก็ไม่รู้เวลาที่แน่นอนด้วย นั่นหมายความว่า เราจำเป็นต้องตรวจสอบการใช้งานทราย และการแลกเปลี่ยนโดยธรรมชาติอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินใหม่
ทราย กรวด หินบด จัดเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้งานมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากน้ำ แถมการใช้งานได้เพิ่มขึ้นสามเท่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็น 40-50 พันล้านเมตริกตันต่อปี
“ทรายถูกใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับคอนกรีต ยางมะตอย แก้ว เช่นเดียวกับการใช้เพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชายฝั่งทะเล”
โดยปกติการได้มาซึ่งทรายทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การขุดลอกทะเลสาบและแม่น้ำ ไปจนถึงการขุดดินแบบต่างๆ รวมถึงการบดหิน วิธีการทั้งหมดนี้นำไปสู่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น การพังทลายของแม่น้ำ มลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงของที่ดิน และการหดตัวของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งสามารถกระตุ้นหรือขยายความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้
ผลกระทบบางส่วนได้เกิดขึ้นแล้ว ตัวอย่างเช่น ในแม่น้ำโขง การดูดทรายจากแม่น้ำทำให้สามเหลี่ยมปากแม่น้ำจม ในขณะที่การกำจัดทรายในแม่น้ำศรีลังกาทำให้กระแสน้ำไหลกลับ ซึ่งหมายความว่าน้ำทะเลกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่แผ่นดินและจะนำไปสู่การพังทลายของแผ่นดิน
การศึกษาพบว่าสัตว์และพืชประมาณ 1,000 สายพันธุ์ ถูกคุกคามแล้วรับผลกระทบจากการขุดทรายและกรวด ซึ่งขยายไปถึง 24,000 สปีชีส์ อย่างไรก็ตามสถานการณ์อาจรุนแรงกว่านี้มาก เมื่อพิจารณาถึงความต้องการใช้ทราย ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ขณะที่ Sheila Aggarwal-Khan ผู้อำนวยการแผนกเศรษฐกิจของ UNEP กล่าวว่า “ตอนนี้เราอยู่ในจุดที่ความต้องการและความคาดหวังของสังคมไม่สามารถตอบสนองได้ หากขาดการจัดการทรัพยากรทรายที่ดีขึ้น …หากเราดำเนินการตอนนี้ ก็ยังเป็นไปได้ที่จะหลีกเลี่ยงวิกฤตขาดแคลนทราย”