
รู้หรือไม่… นักวิทยาศาสตร์ในยุโรป เผยรายงานว่า ปี 2021 เป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิสูงสุดในอันดับ 5 และในช่วง 7 ปีที่ผ่านมายังเป็นช่วงที่อุณหภูมิโลกทำสถิติร้อนที่สุดอีกด้วย
รายงานจากโครงการ Copernicus Climate Change Service (C3S) ของสหภาพยุโรป ที่เก็บสถิติอุณหภูมิของโลกและปัจจัยอื่น ๆ ที่ชี้วัดเรื่องโลกร้อน พบว่าอุณหภูมิโลกเฉลี่ยในปี 2021 อยู่ที่ 1.1-1.2 องศาเซลเซียส สูงกว่าในปี 1850 -1900 และเมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังไปถึงปี 1850 พบว่า โลกมีอากาศร้อนที่สุดอย่างชัดเจนใน 7 ปีที่ผ่านมา โดยปีที่ร้อนที่สุดในประวัติการณ์คือปี 2016 และ2020
ในปี 2021 เป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิสูงเป็นอันดับ 5 เท่าที่เคยบันทึกสถิติ อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นเกือบ 1.1 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนช่วงยุคอุตสาหกรรม เนื่องจากปี2021 มีสภาพอากาศแบบสุดขั้วในหลายประเทศ ทั้งฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดในยุโรปคลื่นร้อนในแคนาดา และตะวันออกกลาง รวมทั้งไฟป่าในกรีซ และสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีน้ำท่วมใหญ่ในยุโรปและจีน และในปี 2021 เป็นหนึ่งในปีที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าปีอื่นๆ ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา โดยปรากฏการณ์ลานีญา ที่เริ่มขึ้นในช่วงปลายปีที่แล้วมีแนวโน้มทำให้อุณหภูมิโลกลดต่ำลง
นอกจากนี้ ระดับก๊าซเรือนกระจกหลัก ทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทนทั่วโลก ยังคงไต่ระดับสูงขึ้น และแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2021 หลังจากการลดลงชั่วคราวในปี 2020 เมื่อเริ่มมีการระบาดของโควิด-19 โดยระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงถึง 414.3 ส่วนในล้านส่วน ในปี 2021 เพิ่มขึ้นประมาณ 2.4 ส่วนในล้านส่วน จากปี 2020 ซึ่งสวนทางกับความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องลดให้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ภายใต้ความมุ่งมั่นของข้อตกลงปารีสที่พยายามจำกัดอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
นักวิทยาศาสตร์จาก C3S รายงานว่า ระดับของก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพเป็นพิเศษ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งโดยปกติแล้วก๊าซมีเทนจะถูกปลดปล่อยออกมาจากตั้งแต่การผลิตน้ำมันและก๊าซ และการเกษตรกรรมไปจนถึงมาจากแหล่งธรรมชาติ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วหลายเหตุการณ์รุนแรงขึ้นทั่วโลกในปี 2021 ตั้งแต่การเกิดน้ำท่วมในยุโรป จีน และซูดานใต้ ไปจนถึงการเกิดไฟป่าในไซบีเรียและสหรัฐอเมริกา