รู้หรือไม่ … ความ ชื้น ของอากาศ คือ จำนวนไอน้ำที่มีอยู่ในอากาศ ซึ่งกระจายตัวปะปนอยู่ในอากาศ โดยมาจากการระเหยของแหล่งน้ำ การคายน้ำจากพืช หรือการหายใจของสิ่งมีชีวิตก็ปล่อยไอน้ำออกมาสู่อากาศได้เช่นกัน มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อย่างการก่อตัวของเมฆ การควบแน่นเป็นฝน หรือน้ำค้างที่เกาะตามใบหญ้าเท่านั้น ความชื้นสามารถทำให้เรารู้สึกร้อนอึดอัดได้ด้วย
ดังนั้นความอบอ้าวที่เกิดขึ้นในวันที่ฟ้าขมุกขมัวนั้น ต่างจากความร้อนอบอ้าวเมื่อยืนกางแขนกลางแดด แต่มันก็ทำให้เจ็บแสบไม่แพ้กัน เพราะเหงื่อยังซึมตามหนังศีรษะ มือเปียก ตัวเปียก เสื้อผ้าที่สวมอยู่ก็เปียกไปหมด มันร้อนแบบอึดอัด แต่เมื่อดูอุณหภูมิหรือเช็กสภาพอากาศในมือถือ กลับบอกว่าอุณหภูมิเพียง 28 องศาเซลเซียส แต่ทำไมรู้สึกเหมือนว่ามันร้อนกว่าปกติ นั่นก็เพราะความชื้นที่มีอยู่มาก

ค่าความชื้นที่สามารถวัดได้เรียกว่า ความชื้นสัมพัทธ์ มันคือ อัตราส่วนของปริมาณไอน้ำที่มีอยู่จริงในอากาศ ต่อ ปริมาณไอน้ำที่จะทำให้อากาศอิ่มตัว ณ อุณหภูมิเดียวกัน วัดเป็นหน่วยเปอร์เซ็นต์ หากมี 100% เต็ม ก็แปลว่า มีไอน้ำปะปนในอากาศเต็มพื้นที่แล้วและน้ำในบริเวณนั้นไม่สามารถระเหยได้อีก
ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันกับความรู้สึกของเรา หากเราอยู่ในห้องที่แม้จะมีอากาศไม่ร้อนมากแต่ความชื้นในอากาศสูง เหงื่อหรือความชื้นบริเวณผิวหนังของเราจะไม่สามารถระเหยออกไปได้ และนั่นทำให้เรารู้สึกเหนียวเหนอะหนะ หรือแม้แต่อึดอัด โดยเฉพาะถ้าเรามีเหงื่อออก
เหงื่อมีหน้าที่ลดอุณหภูมิร่างกายของเรา โดยเมื่อมันระเหยออกสู่อากาศจะนำเอาความร้อนบริเวณผิวหนังของเราออกไปด้วย แต่หากเหงื่อไม่สามารถระเหยออกไปได้ เราก็จะไม่สามารถระบายความร้อนออกไปจากร่างกายได้

ความชื้นสัมพัทธ์โดยปกติในช่วงฤดูร้อนสำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้นนั้น อาจสูงขึ้นไปถึง 80-90% แต่ฤดูหนาวอาจจะอยู่ที่ 30-40% และนั่นเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำไมหน้าร้อนประเทศไทย อาจจะเหนอะหนะและอึดอัดกว่าหน้าร้อนในประเทศแถบยุโรปซึ่งมีความชื้นต่ำกว่า มันจะร้อนแห้งกว่า หากมีเหงื่อออกก็จะระเหยออกไปได้อย่างรวดเร็ว และนั่นก็ทำให้รู้สึกไปเองได้ว่าอุณหภูมินั้นต่ำกว่า
แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเปอร์เซ็นต์ของความชื้นสัมพัทธ์ก็ไม่สามารถบ่งบอกถึงความอึดอัดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะว่าสัดส่วนความชื้นที่ล่องล่อยอยู่ในอากาศในรูปแบบของไอน้ำนั้นแปรผันตามอุณหภูมิ
ความชื้นสัมพัทธ์ที่ 50% ของวันที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส ไม่ชื้นเท่าวันที่มีอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียสและมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ที่เท่ากัน ดังนั้นปัจจุบันแอปพลิเคชันหรือเว็บพยากรณ์อากาศสมัยใหม่จึงไม่ได้พิจารณาเพียงแค่ตัวเลขอุณหภูมิอย่างเดียว แต่อาจจะมีการใช้คำว่า “ความรู้สึกจริง” หรือ Real Feeling เข้าร่วมด้วย
เช่น หากคุณออกไปนอกบ้านในช่วงนี้อาจจะร้อนหรือหนาวกว่าตัวเลขอุณหภูมิ เพราะว่ามีการใช้ตัวแปรอื่น ๆ อย่างความชื้นในอากาศ หรือทิศทางและความแรงของลม ร่วมพยากรณ์ด้วย
