
รู้หรือไม่…. เวลาที่เราต้องทำงานเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำ หลายคนที่ไม่มีเบื้องลึก เบื้องหลังทางด้านวิศวกรรมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ อาจสับสนหรือไม่เข้าใจความหมายของคำว่า อุตุ-อุทก ดังนั้น วันนี้เราจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในหมวดคำศัพท์เบื้องต้นของงานด้านอุตุ-อุทกวิทยาด้วยกัน
⛈⛈⛈คำว่า “อุตุ” นั้นมาจาก อุตุนิยมวิทยา (Meteorology) เป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่องของน้ำฟ้า ง่ายๆ ให้นึกถึงกรมอุตุนิยมวิทยา ทำหน้าที่พยากรณ์ ทายทักลมฟ้าอากาศ
💦💦💦ส่วน “อุทก” นั้นมาจาก อุทกวิทยา (Hydrology) เป็นวิชาที่ครอบคลุมการศึกษาน้ำบนดิน เช่น น้ำในแม่น้ำ ลำธาร เป็นต้น
ทั้งสองส่วนเกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน เพราะเมื่อน้ำฝน (น้ำอุตุ) ตกลงมาบนดิน ก็กลายร่างเป็นน้ำท่า (น้ำอุทก) ไหลผ่านแม่น้ำ ลำธาร ลุ่มน้ำต่างๆ มีการไหลเวียนไปตามธรรมชาติ ตามฤดูกาล ที่เรียกว่า วัฎจักรของน้ำ (Hydrologic Cycle) ถ้าเราอยากจะทราบปริมาณน้ำฝน และน้ำท่า ก็ต้องมีที่เก็บข้อมูล ซึ่งก็คือ สถานีนั่นเอง
• สถานีอุตุนิยมวิทยา คือ สถานีที่ใช้ในการวัดปริมาณน้ำฝน (Rain) / ปริมาณหยาด เรียกน้ำฟ้า (Precipitation) รวมหยดน้ำและน้ำแข็ง/ ที่ตกลงมาจากท้องฟ้า โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า ถังวัดน้ำฝน (Rain Gauge) มีปากวัดน้ำฝนขนาด 8 นิ้ว หรือ 20 เซนติเมตร โดยเราจะวัดปริมาณน้ำฝนตามความสูง โดยใช้ไม้บรรทัดวัดความลึกของฝน หรือใช้แก้วตวง โดยมีหน่วยเป็น นิ้วหรือมิลลิเมตร และจะมีการรายงานปริมาณน้ำฝน ทุกๆ 7.00 น.เช้า ตามหลักองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization, WMO)
• สถานีอุทกวิทยา คือ สถานี/จุดตรวจวัดที่ใช้ในการวัดน้ำในแม่น้ำ หรือในอ่างเก็บน้ำ เรียกน้ำท่า (Discharge/Runoff) เป็นตัวแทนลุ่มน้ำ โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เครื่องวัดความเร็วของกระแสน้ำ (Current Meter) จะให้ค่าเป็นจำนวนรอบต่อเวลา โดยมีหน่วยเป็นลูกบาศก์เมตร/วินาที การรายงานปริมาณน้ำท่า เป็น รายวัน รายเดือนรายฤดูกาล และรายปี เป็นต้น
• เราสามารถนำข้อมูล ทั้งน้ำฝน และน้ำท่า จากสถานี ที่เรียกย่อๆ ว่า สถานีอุตุ-อุทกวิทยา ที่มีการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลายาวๆ มาใช้นั้น จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในการพยากรณ์ เตือนภัย เพื่อบรรเทาภัยที่จะเกิดจากน้ำท่วม ในฤดูฝน และการเตรียมแหล่งน้ำสำรอง ไว้ในฤดูแล้ง ที่จะเกิดขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ