เครื่องหมายอัศเจรีย์

รู้หรือไม่… 13 ก.พ. วันรักนกเงือก

13 กุมภาพันธ์ 2565

รู้หรือไม่… “นกเงือก” แต่ละตัวสามารถกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ป่าได้มากกว่า 100 ต้นต่อสัปดาห์  ซึ่งนกเงือกมีอายุยืนยาวกว่า 30 ปี จึงคิดคำนวณได้ว่า “หนึ่งชีวิตของนกเงือก จะสามารถช่วยปลูกไม้ป่าได้ถึง 500,000 ต้น” 

นั่นก็เพราะนกเงือกจะมีการขย้อนเมล็ดผลไม้สุกขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นอาหารหลักที่กินเข้าไปออกมา ทำให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นร่วงหล่นสู่ป่าและเกิดการเจริญเติบโต  ประกอบกับนกเงือกบินระยะทางไกลครอบคลุมพื้นที่กว้างมาก และยังเก็บอาหารพักไว้ในกระเพาะได้นานถึง 1-2 ชั่วโมง  เป็นการเพิ่มโอกาสการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ไปทั่วทั้งผืนป่า อีกทั้งยังช่วยควบคุมจำนวนประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่อให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติ  กล่าวได้ว่าป่าที่มีนกเงือกอาศัยอยู่จะมีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง

มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล  ให้ข้อมูลกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติว่า สถานการณ์ของนกเงือกดีขึ้น เพราะมีจำนวนนกเพิ่มขึ้นทุกปี  โดยทีมนักวิจัยและอาสาสมัครในโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก เฝ้าระวังและติดตามสถานภาพการขยายพันธุ์ของนกเงือกในผืนป่าประเทศไทย ติดตามการเปลี่ยนแปลงและความหนาแน่นของประชากรนกเงือก ในพื้นที่วิจัยหลัก 3 แห่ง คืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เป็นเวลา 41 ปี ได้ลูกนกเงือกบินออกสู่ธรรมชาติ 3,127 ตัว ,เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี 31 ปี ได้ลูกนกเงือกบินออกสู่ธรรมชาติ 1,151 ตัว และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส27 ปี ได้ลูกนกเงือกบินออกสู่ธรรมชาติ 821 ตัว เฉพาะประชากรของลูกนกเงือกใน  3 พื้นที่ รวมทั้งหมด 5,099 ตัว เฉพาะปี 2564 ทั้ง 3 พื้นที่ได้ลูกนกเงือก 244 ตัว

นกเงือกจะทำรังในโพรงไม้ที่มีในธรรมชาติ และจะกลับมาทำรังทุกปีที่โพรงเดิม ดังนั้นหากนักวิจัยไม่ช่วยซ่อมแซมโพรงรัง  นกเงือกก็จะไม่สามารถใช้โพรงในการออกลูกได้ เป็นอีกสาเหตุที่จะทำให้ประชากรนกเงือกลดลง และหากพื้นที่ใด มีการสำรวจแล้วไม่พบโพรงในต้นไม้ใหญ่ ทีมนักวิจัยก็จะมีการติดตั้งโพรงเทียมให้ และปรับปรุงโพรงไม้ในธรรมชาติให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มจำนวนนกเงือกในพื้นที่นั่นๆ  

…..เมื่อถามถึงการทำงานเพื่อการวิจัยนกเงือก มีความยากมากน้อยเพียงใด?

มูลนิธิวิจัยนกเงือก บอกว่า เป็นการทำงานที่ไม่ยาก และมีความสุขที่ได้เห็นประชากรนกเงือกเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่กังวลในขณะนี้คือการซ่อมแซมโพรงรังของนกเงือกจะต้องปีนขึ้นไปทำบนต้นไม้สูง  ในขณะนี้วิจัยในโครงการมีอายุมากขึ้น  แต่ก็เริ่มมีทีมอาสาสามัครที่เข้ามาช่วยงานให้สามารถดำเนินไปได้อย่างดี  และเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของนกเงือก  ที่ใกล้จะสูญพันธุ์มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล จึงกำหนดให้ “วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันรักนกเงือก”  ซึ่งนับเป็นปีที่ 18 แล้ว

แชร์