รู้หรือไม่.. สาเหตุการเกิดคลื่น สึนามิ มี 4 รูปแบบหลัก คือ
1.การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกตามแนวรอยเลื่อนที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวที่พื้นท้องทะเล
2.การระเบิดอย่างรุนแรงของภูเขาไฟใต้ทะเล
3.ดินถล่มบริเวณพื้นท้องทะเล
4.การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ทะเล
ทั้ง 4 รูปแบบ กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของพื้นทะเลในแนวดิ่งตรงรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งก่อให้มีแนวของรอยเลื่อนมีพลัง อันเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ คลื่นที่เกิดขึ้นมักมีลักษณะขนาดเล็ก ไม่สามารถตรวจวัดได้ขณะอยู่ในทะเลเปิด
เมื่อเคลื่อนที่เข้าใกล้ชายฝั่ง ความสูงของคลื่นจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตามสภาพภูมิลักษณ์ของชายฝั่งนั้นๆ จนมีผลกระทบร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีผลต่ออ่าวที่เว้าเป็นรูปตัววี และเปิดไปสู่มหาสมุทรโดยตรง ทำให้ส่วนใหญ่สึนามิเกิดบริเวณเดียวกับย่านที่เกิดแผ่นดินไหวในทะเล หรือชายฝั่ง โดย 80% ของสึนามิที่เกิดทั้งหมดมักอยู่ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ยืนยันได้จากข้อมูลการเกิด สึนามิ ครั้งรุนแรงในอดีต

● เมื่อประมาณ 1,600 ปีก่อนคริสต์ศักราช เกิดภูเขาไฟระเบิดที่เกาะอีเจียน เมืองทีรา ประเทศกรีซ ทำให้เกิดสึนามิในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สันนิษฐานว่ามีคลื่นสึนามิที่กระทบชายฝั่งของอิสราเอลสูงประมาณ 6 เมตร
● พ.ศ.2298 เกิดแผ่นดินไหวที่เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ทำให้เกิดสึนามิตามแนวชายฝั่งประเทศโปรตุเกส สเปน และโมร็อกโก มีผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ 60,000 คน
● 1 เมษายน 2489 เกิดแผ่นดินไหวที่ชายฝั่งของมลรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกาทำให้ประภาคารสกอตซ์เคป บนเกาะยูนิแมก สูง13.5 เมตร พังทลาย ต่อมาประมาณ 5 ชั่วโมง คลื่นสึนามิแผ่ไปถึงเมืองฮีโล มลรัฐฮาวาย ซึ่งมีลักษณะเป็นอ่าวขนาดใหญ่ และรับคลื่นสึนามิโดยตรง ทำให้มียอดคลื่นสูง 16 เมตร ก่อความเสียหายรุนแรง ไม่ว่าอาคารบ้านเรือน สะพานรางรถไฟ ถนนเลียบชายหาด เสียหายยับเยิน คร่าชีวิตมนุษย์ประมาณ 160 คน
● 23 พฤษภาคม 2503 เกิดแผ่นดินไหวที่ชายฝั่งประเทศชิลีขนาด 9.5 ริกเตอร์(แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่บันทึกได้) ก่อให้เกิดสึนามิทั่วชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก คร่าชีวิตมนุษย์กว่า 1,000 คน คลื่นมีความเร็ว 710 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากประเทศชิลีถึงเมืองฮีโล มลรัฐฮาวาย 14.9 ชั่วโมง ซึ่งอยู่ห่าง 10,600 กิโลเมตรได้รับผลกระทบรุนแรง ความร้ายกาจของสึนามิครั้งนี้ยังคร่าชีวิตชาวญี่ปุ่น 140 คน ทั้งที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่ห่างถึง 17,000 กิโลเมตร ซึ่งมียอดคลื่นสูงถึง 7 เมตร ใช้เวลาเดินทาง 24 ชั่วโมง

ในย่านมหาสมุทรอินเดีย ก็สามารถเกิดสึนามิได้เช่นกัน ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
● เมื่อ 326 ปีก่อนคริสต์ศักราช เกิดแผ่นดินไหวใกล้สามเหลี่ยมปากแม่น้ำสินธุประเทศอินเดีย ส่งผลให้เกิดสึนามิเข้าโจมตีกองเรือรบของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช ขณะเดินทางกลับประเทศกรีก (Lietzin, 1974)
● พ.ศ. 2067 เกิดสึนามิใกล้เมืองดาพอล รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย
● พ.ศ. 2305 เกิดแผ่นดินไหวที่ชายฝั่งอารากัน สหภาพเมียนมา ส่งผลให้เกิดสึนามิทำความเสียหายกับบริเวณชายฝั่งทะเลในอ่าวเบงกอล
● 26 มิถุนายน 2484 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริกเตอร์ ที่ระหว่างหมู่เกาะนิโคบาร์-อันดามัน แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงแนวชายฝั่งของประเทศอินเดีย และศรีลังกา ทำให้เกิดสึนามิตามมา มีการบันทึกว่ามีความสูงของคลื่น 1 เมตร และเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมทรัพยากรธรณี