
ความน่าจะเป็นที่จะเกิดลานีญาปรับเพิ่มขึ้นอีกและทรงตัวในระดับสูง คาดว่าจะทำให้ช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน (ฤดูฝน) ปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติทุกภูมิภาค และมากกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ กรุงเทพฯ กลาง ตะวันออก ตะวันตก อีสาน ใต้ตอนบน ขณะที่ปีนี้จะมีอากาศหนาวกว่าปกติเกือบทุกภูมิภาคตั้งแต่ช่วงปลายปี – มกราคม 2566 และจะหนาวเย็นกว่าปีที่แล้ว

รศ. ดร. วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า จากข้อมูลของ International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ Climate Prediction Center องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) สหรัฐอเมริกา ได้พยากรณ์ ความน่าจะเป็นการเกิดลานีญาปรับเพิ่มเกิน 80% ช่วง กรกฎาคม – กันยายน 2565 และแตะเกือบ 80% ลากยาวถึง ธันวาคม 2566 โดยเพิ่มกำลังอีกจากเดิม มากกว่าที่คาดไว้ในเดือนที่แล้ว แม้ว่าจะอยู่ในระดับกำลังอ่อน แต่ก็ประมาทไม่ได้ โดยคาดว่าลานีญาจะอ่อนกำลังช่วง กุมภาพันธ์ 2566 สัญญาณเอลนีโญยังมีน้อยและน่าจะไม่เกิดภัยแล้ง

ซึ่งบ่งชี้ว่าให้เตรียมรับมือกับปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นจากนี้ไป และมากกว่าเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนที่แล้ว เนื่องจากลานีญาไม่ยอมอ่อนกำลังลง และยืดเยื้อออกไปถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ต้องระวังน้ำท่วมให้มากในทุกภูมิภาค เพราะฝนจะมามากกว่าปกติ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ กรุงเทพฯ ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก และอีสาน ฝนจะลากยาวถึงอย่างน้อยเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ภาคใต้ระวังน้ำท่วมช่วง ตุลาคม – ธันวาคม 2565 ส่วนช่วงมกราคม 2566 ฝนจะลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ฝนจะกลับมามากกว่าค่าเฉลี่ยปกติในทุกภูมิภาค

สำหรับอุณหภูมิ ทาง IRI และ APEC Climate Center พยากรณ์ว่าช่วง พฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 อากาศจะหนาวเย็นมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และจะหนาวกว่าปีที่ผ่านมาเกือบทุกภูมิภาค ซึ่งมาจากอิทธิพลของปริมาณฝนที่ลากยาวออกไปจากฤดูกาลปกติ