
- ช่วงบ่ายของวันที่ 21 พ.ย. 65 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.6 ในชวาตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลให้อาคารหลายสิบแห่งได้รับความเสียหาย บางส่วนถล่มลงมา ประชาชนกว่า 13,000 คน ต้องอพยพไปอยู่ที่ศูนย์หลบภัยชั่วคราว จากการตรวจสอบล่าสุดมียอดผู้เสียชีวิต 162 คน และบาดเจ็บนับร้อยคน
- แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเป็นประจำในอินโดนีเซีย รวมถึงคลื่นยักษ์สึนามิมาแล้วหลายครั้ง และภูเขาไฟระเบิด เนื่องจากอยู่ในเขตรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกและพิกัดเสี่ยงของกลุ่มภูเขาไฟ ที่ถูกเรียกว่าวงแหวนแห่งไฟ หรือ “Ring of Fire” ในเเอ่งมหาสมุทรแปซิฟิก
- วงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “แนวเทือกเขารอบมหาสมุทรแปซิฟิก” (Circum-Pacific Belt) คือ แนวภูเขาไฟที่ยังคงคุกรุ่นและร่องลึกก้นสมุทรที่มีความยาวรวมกันกว่า 40,000 กิโลเมตร ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของปรากฏการณ์แผ่นดินไหวกว่าร้อยละ 90 ที่เกิดขึ้นบนโลก
- “วงแหวนแห่งไฟ” ประกอบไปด้วยภูเขาไฟทั้งหมด 452 ลูก หรือกว่าร้อยละ 75 ของภูเขาไฟทั้งหมดที่ปรากฏอยู่บนโลก มีลักษณะเรียงตัวเป็นเส้นคล้ายเกือกม้า โดยครอบคลุมพื้นที่ในมหาสมุทรและประเทศในทวีปต่าง ๆ รวมกันถึง 31 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศโบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลัมเบีย ชิลี ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ฟิจิ และสหรัฐอเมริกา
- “วงแหวนแห่งไฟ” เกิดจากการเคลื่อนที่เข้าหากันของแผ่นเปลือกโลก หรือแผ่นธรณีภาค (Plate) เมื่อหลายล้านปีก่อน ซึ่งก่อให้เกิดการมุดตัวลงซ้อนกันในบริเวณที่เรียกว่า “เขตมุดตัวของเปลือกโลก” (Subduction Zone) ใต้มหาสมุทร และการมุดตัวลงของแผ่นธรณีภาคนี้ ได้ก่อให้เกิดร่องลึกใต้มหาสมุทรและการหลอมละลายของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งผลักดันให้หินหนืด (Magma) เคลื่อนตัวขึ้นมาตามรอยแยกจนกลายเป็นต้นกำเนิดของแนวภูเขาไฟที่ในภายหลังอาจยกตัวขึ้นมาเหนือผิวน้ำจนเกิดเป็นแนวเทือกเขา หรือ หมู่เกาะกลางทะเล
- “วงแหวนแห่งไฟ” คือบริเวณที่ขอบของแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ชนกันหรือเคลื่อนที่ผ่านกันจนก่อให้เกิดแนวเทือกเขาที่มีลักษณะคล้ายเกือกม้า โดยเกิดจากการเคลื่อนที่มาชนกันและมุดตัวซ้อนกันของแผ่นธรณีจำนวนมาก เช่น การชนกันของแผ่นธรณีภาคนาซคา (Nazca Plate) และแผ่นธรณีภาคอเมริกาใต้ ซึ่งก่อให้เกิดเทือกเขาแอนดีส (Andes) หรือการมุดตัวลงใต้บริเวณหมู่เกาะอะลูเชียน (Aleutian Islands) จนถึงทางใต้ของประเทศญี่ปุ่นของแผ่นธรณีภาคแปซิฟิก
- นอกจากนี้ยังรวมถึงการซ้อนทับกันของแผ่นธรณีภาคขนาดเล็กหลายแผ่นบริเวณทางตอนใต้ของวงแหวนแห่งไฟ ซึ่งมีจุดเริ่มตั้งแต่หมู่เกาะมาเรียน่า (Mariana Islands) ของฟิลิปปินส์ เกาะบัวเกนวิลล์ (Bougainville) ของตองกา และนิวซีแลนด์ที่ต่อเนื่องไปยังแนวเทือกเขาอัลไพน์ (Alpine) ตั้งแต่บริเวณเกาะชวาและเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียผ่านเทือกเขาหิมาลัยและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งแนวภูเขาไฟและรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกนี้ เป็นต้นกำเนิดของปรากฏการณ์แผ่นดินไหวมากถึงร้อยละ 27 ของปรากฏการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั่วโลก

….ย้อนบางส่วนของเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอินโดนีเซีย….
- เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 ก็เพิ่งเกิดแผ่นดินไหวความรุนเเรง 6.2 ที่จังหวัดสุมาตราตะวันตก อินโดนีเซีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 460 คน แรงสั่นไหวในครั้งนั้นรับรู้ได้ไกลถึงมาเลเซีย และสิงคโปร์
- ในเดือนมกราคม ปี 2564 เกิดแผ่นดินไหวความรุนเเรง 6.2 เช่นกัน ในจังหวัดสุลาเวสีตะวันตก คร่าชีวิตประชาชนกว่า 100 คน และมีผู้บาดเจ็บเกือบ 6,500 คน
- 28 กันยายน 2561 บริเวณเกาะสุลาเวสี เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.5 และสึนามิถล่มตามมาที่เมืองปาลู เมื่อ ทำให้มีคนเสียชีวิต หรือสูญหายรวมกว่า 4,300 คน
- 26 ธันวาคม 2547 หรือ 18 ปีก่อน จากแผ่นดินไหวขนาด 9.1 นอกชายฝั่งสุมาตรา ก่อให้เกิดสึนามิคร่าชีวิตผู้คนในหลายประเทศทั่วภูมิภาคนี้ถึง 230,000 คน ใน 12 ประเทศ โดยเป็นผู้เสียชีวิตในอินโดนีเซียถึง 170,000 คน

…แผ่นดินไหว – ภูเขาไฟระเบิด – สึนามิ….
ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ นักธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า หากพิจารณาในแง่ปัจจัยการเกิดสึนามิ ภูเขาไฟรอบวงแหวนไฟที่มีโอกาสสูงที่จะสร้างสึนามิหากเกิดการปะทุ คือ ภูเขาไฟที่ยังไม่โผล่พ้นน้ำ เนื่องจากภูเขาไฟที่โผล่พ้นน้ำแล้ว หากเกิดการปะทุ ก็จะได้เถ้าพวยพุ่งขึ้นสู่อากาศ แต่หากปากปล่องภูเขาไฟยังจมอยู่ใต้น้ำ ก็มีโอกาสสูงที่แรงจากการปะทุจะทำให้เกิดคลื่นสึนามิได้ นอกจากนี้ภูเขาไฟยังสามารถประทุได้อีกเรื่อย ๆ ในละแวกวงแหวนแห่งไฟ เนื่องจากตรงจุดนั้นมีภูเขาไฟเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นพฤติกรรมโดยปกติของวงแหวนแห่งไฟในปัจจุบัน
