
วันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปี คือ วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ(International Day for Biological Diversity: IDB) ที่องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2543 เพื่อกระตุ้นให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และตื่นตัวต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ชวนติดตามประเด็นนี้ผ่านความคิดเห็นจากผู้ที่ติดตามปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่อธิบายความสำคัญของความจำเป็นที่เราทุกคนควรหันมาให้ความสนใจปกป้องและดูแลความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย
“หากโลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งที่ตามมาคือ สิ่งที่เราเคยได้รับจากธรรมชาติ เช่นน้ำบริสุทธิ์ หรือการผสมเกสรของแมลงที่จำเป็นต่อเกษตรกรจะหายไป“ – ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม อธิบายว่าความหลากหลายทางชีวภาพคือสิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบบนโลกใบนี้ ที่มีบทบาทหน้าที่เกื้อกูล เชื่อมโยงกันในระบบนิเวศ การสูญเสียสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตไปทีละอย่างอาจยังไม่เห็นภาพชัดเจนแต่หากมีจำนวนมากขึ้น สุดท้ายผลกระทบเหล่านั้นจะย้อนกลับมาที่ตัวเราทุกคน นอกจากนี้ยังมองว่าความสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพ มีส่วนสำคัญในการปกป้อง ลดผลกระทบให้กับพื้นที่ชุมชนซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ ที่เป็นผลมาจากภาวะโลกรวนหรือ (Climate Change) โดยหากชุมชนเหล่านั้นมีสภาพความหลากหลายทางชีวภาพไม่สมบูรณ์ ก็จะทำให้ประสบปัญหาภัยพิบัติรุนแรงกว่าพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอุดมสมบูรณ์