เครื่องหมายอัศเจรีย์

วันนี้ในอดีต โป๊ะล่มท่าเรือพรานนก

ย้อนกลับไปเวลา 07:15 น. ของวันที่ 14 มิถุนายน 2538  หรือ 27 ปีที่แล้ว  เกิดอุบัติเหตุโป๊ะรับส่งผู้โดยสารบริเวณท่าเรือพรานนกล่มลงในแม่น้ำเจ้าพระยาเนื่องจากมีผู้โดยสารลงไปรอเรือบนโป๊ะเป็นจำนวนมาก  เพราะเป็นช่วงเร่งรีบที่หลายคนต่างเดินทางไปทำงาน หรือไปโรงเรียน   เป็นจังหวะเดียวกับที่เรือกำลังเข้าเทียบท่า ทำให้มีคลื่นกระทบกับโป๊ะ ส่งผลให้ทุ่นเอียง และมีน้ำเข้าไปในทุ่น จนไม่สามารถรับน้ำหนักต่อไปได้ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 29 คน ประกอบกับโป๊ะของท่าเรือพรานนก มีลักษณะการใช้แทงก์ขนาดใหญ่ทำเป็นทุ่นลอยน้ำ ตัวโป๊ะถูกผูกยึดกับเสาท่อนกลม 2 ท่อน โดยมีแผ่นเหล็กเป็นพื้นรองรับ ซึ่งตัวโป๊ะต่อเชื่อมกับสะพานทางลง โดยมีล้อเลื่อนอัดอยู่ที่ปลายทั้งสองฟาก เพื่อให้โป๊ะลอยขึ้นลงได้

เจ้าหน้าที่กู้ภัยและทีมแพทย์ได้เข้าช่วยเหลือ และค้นหาผู้ประสบเหตุ พบผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กติดอยู่ใต้ตัวโป๊ะที่มีหลังคาคลุม โดยบางส่วนถูกกระแสไฟฟ้าที่รั่วจากหลังคาโป๊ะดูด หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้หลายฝ่ายตระหนักถึงความปลอดภัยของโป๊ะตามท่าเรือต่างๆ มากขึ้น โดยได้มีการปรับปรุงโป๊ะตามท่าเรือเจ้าพระยาต่าง ๆ และเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตได้ยื่นฟ้องบริษัท สุภัทรา จำกัด บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยากรุงเทพมหานคร และกรมเจ้าท่า ซึ่งทางบริษัทสุภัทรา และบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยาได้ชดใช้ให้กับผู้เสียหายเป็นเงินจำนวนหนึ่งจนมีการถอนฟ้อง เหลือเพียงกรุงเทพมหานครที่ต่อสู้คดีมาจนถึงชั้นศาลฎีกา

19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ศาลได้พิพากษาว่ากรุงเทพมหานครมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลท่าเรือให้เกิดความปลอดภัย แต่กลับประมาทเลินเล่อไม่ดูแล จนเกิดอุบัติเหตุขึ้น ศาลจึงมีคำสั่งให้ชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายจำนวน 12 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,616,241 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ฟ้องเมื่อปี พ.ศ. 2539 ซึ่งเมื่อรวมดอกเบี้ยแล้วเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่ากรุงเทพมหานครกระทำการโดยประมาทจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวนั่นเอง

แชร์