
ภาพฝูง วาฬ นำร่องฝูงใหญ่ที่แต่ละตัวยาวร่วม 4 เมตรและมีน้ำหนักตัวเกือบตันนอนเรียงรายอยู่บนหาดที่เกาะในรัฐแทสมาเนียของออสเตรเลียถือเป็นภาพที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง
วันพุธที่ผ่านมา วาฬชนิดนี้ประมาณ 230 ตัว เกยตื้นใกล้กับเมือง Strahan บนชายฝั่งทางตะวันตกของแทสมาเนีย เพียงไม่กี่วันหลังเพิ่งเกิดเหตุวาฬหัวทุย 14 ตัว เกยตื้นบนเกาะ King ในช่องแคบ Bass ห่างออกไปทางเหนือประมาณ 270 กิโลเมตร

โดยปรากฏการณ์วาฬเกยตื้นฝูงใหญ่เมื่อวันพุธเกิดขึ้นตรงกับวันครบรอบ 2 ปีที่เกิดเหตุวาฬเกยตื้นหมู่ครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย เมื่อวาฬนำร่องหลายร้อยตัวพากันเกยตื้นตายริมหาดทรายในแถบเดียวกันของแทสมาเนียเมื่อปี 2020
หลังเกิดเหตุ ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานรัฐเดินทางลงพื้นที่เพื่อวางแผนรับมือเหตุเกยตื้นหมู่ โดยมีเรือจากฟาร์มปลาในพื้นที่เข้าช่วยลากจูงวาฬที่ยังอยู่ในน้ำให้ว่ายไกลออกไปจากชายฝั่ง แต่เสียงร้องของบรรดาวาฬที่กระเสือกกระสนอยู่บนฝั่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดพวกมันเข้าไปหา ราวกับเป็นเสียงเรียกไปสู่ความตาย

แทสมาเนียเป็นจุดที่เกิดเหตุวาฬเกยตื้นชุกที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่สาเหตุยังคงเป็นปริศนา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า ระบุว่า การเกยตื้นแต่ละครั้งแตกต่างกัน และเราไม่สามารถทราบได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่การเกยตื้นครั้งนี้ที่เกิดในวันและเดือนเดียวกันกับเหตุเมื่อปี 2020 อาจเป็นสัญญาณว่ามีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับสถานที่หรือเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
แต่อย่างไรก็ดี ข้อมูลนี้ยังเป็นเพียงการคาดคะเน เพราะฝูงวาฬที่เกยตื้นอาจถูกดึงให้หลงทิศจากสมาชิกในฝูงตัวใดตัวหนึ่งที่ไม่สบาย อาจเป็นการว่ายผละออกจากไหล่ทวีป หรือแค่มีบางอย่างเกิดขึ้นจนทำให้ตกใจก็เป็นได้
วาฬนำร่อง ซึ่งทางเทคนิคแล้วเป็นโลมาขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ตามปกติจะเคลื่อนที่เป็นฝูงซึ่งประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 50 ตัว แต่ฝูงขนาดใหญ่ก็อาจมีสมาชิกหลายร้อยตัวได้ และเป็นไปได้ว่าพวกมันว่ายน้ำไปด้วยกันทั้งหมด ซึ่งหากมีตัวหนึ่งว่ายหลงทิศ อาจนำมาซึ่งจุดจบของอีกหลายร้อยตัวในฝูง เพราะพวกมันเป็นสัตว์สังคมที่ทำอะไรตามผู้นำอยู่เสมอ

เหตุการณ์เมื่อปี 2020 มีวาฬเพียง 110 ตัวเท่านั้นที่รอดชีวิต จากทั้งหมด 470 ตัวที่ว่ายมาเกยตื้น หลายตัวที่ตายลงต้องถูกลากกลับลงทะเลเพื่อให้ร่างกายเน่าเสียในจุดที่ห่างจากฝั่ง ครั้งนี้สถานที่ซึ่งเกิดการเกยตื้นประกอบกับสภาพอากาศที่คาดการณ์ไม่ได้และคลื่นทะเลที่สูงได้ถึง 15 เมตร นับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภารกิจเก็บกู้เช่นกัน
การจัดการกับซากวาฬยิ่งจะเป็นสิ่งที่ท้าทายขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลังจากตายได้ 2-3 วัน ซากวาฬจะเริ่มเน่าเปื่อย อืดจนเกิดระเบิด และทำให้การเก็บกวาดยากขึ้นไปอีกขั้น โดยหลุมฝังกลบแบบหมู่ซึ่งเคยใช้หลังเกิดการเกยตื้นครั้งก่อนๆ ก็ถือเป็นปัญหาเช่นกัน เพราะเมื่อซากวาฬย่อยสลายจะมีทั้งน้ำมันที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าอื่นๆ และของเหลวที่ดึงดูดสัตว์อย่างฉลามให้เข้ามาใกล้ ซึ่งจะทำให้เป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวบนหาด
หากจะมองหาสิ่งดีๆ จากเหตุวาฬเกยตื้นหมู่ ผู้เชี่ยวชาญทิ้งท้ายไว้ว่า ข้อมูลที่เราจะได้จากการศึกษาสัตว์ที่ตายลงในปรากฏการณ์เหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ได้
(ที่มา https://www.nytimes.com/2022/09/21/world/australia/stranded-whales-tasmania.html)