จุดเริ่มต้นกระแสคัดค้านกำแพงกันคลื่น
ใน ปี 2555 เพจ Beach for life ได้ก่อตั้งขึ้น หลังพบ กำแพงกันคลื่น กระจายในหลายพื้นที่ของภาคใต้ โดยเฉพาะที่หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา หลังจากนั้น ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมความรู้ว่าชายหาดมีระบบนิเวศเป็นอย่างไร และสื่อสารให้คนในสังคมได้รู้ว่ายังมีแนวทางอื่นนอกจากกำแพงกันคลื่น เช่น เติมทราย ปักไม้ และ การกำหนดแนวถอยร่น เพื่อให้การใช้ประโยชน์ชายหาดสอดคล้องกับชุมชนมากที่สุด แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
นอกจากนี้ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องกับกำแพงกันคลื่นคดีแรก คือคดี ที่ชาวบ้านพื้นที่หาดสะกอม จ.สงขลา และนักวิชาการ ฟ้องหน่วยงานรัฐกรณีสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น เพราะมองว่าโครงสร้างดังกล่าวนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้วแต่ยังทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งลุกลาม จนกระทบวิถีชีวิต
ติดตามสกู๊ปข่าวได้ที่ 👇🏻
26 ม.ค.นี้ศาลตัดสินคดีประวัติศาสตร์เขื่อนกันคลื่น “หาดสะกอม” >> https://youtu.be/PLljibDZVKY

ช่วงที่เหตุการณ์เริ่มได้รับความสนใจจากประชาชน
เหตุการณ์ที่เริ่มสร้างความสนใจ คือเหตุการณ์ฟ้องร้องต่อศาล เพื่อคัดค้านกำแพงกันคลื่น ที่หาดชลาทัศน์ เมื่อปี 2558 สาเหตุมาจากการที่ชาวบ้านพบเห็นความผิดปกติของขั้นตอน กล่าวคือ เดิมทีภาครัฐอ้างว่าจะมีโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ โดยกำหนดรูปแบบเป็นการก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่ง และเสริมทรายชายหาด ทำให้โครงการนี้ไม่ต้องดำเนินการทำ EIA ตามกฎหมาย แต่เมื่อเข้าไปตรวจสอบ กลับพบว่า โครงการดังกล่าว เป็นการก่อสร้างรอดักทราย และเสริมทรายชายฝั่ง ไม่ใช่การก่อสร้างตามที่มีการติดประกาศประชาสัมพันธ์ ทำให้เกิดกระแสคัดค้าน จนการก่อสร้างต้องยุติลง และภายหลังจึงมีการจัดทำ EIA อย่างเป็นขั้นตอน
ต่อมาในปี 2563 เป็นเหตุการณ์ที่หาดม่วงงาม ที่ชาวบ้านได้รวมตัวกันคัดค้านกำแพงกันคลื่นและฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเนื่องจากชาวบ้านบางส่วนมีวิถีชีวิตผูกพันกับหาดทรายบางรายทำอาชีพทำประมงพื้นบ้านทำให้ต้องนำเรือมาจอดที่หาดทราย,บางรายหาเก็บหอยที่ชายหาดอีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วยแต่หากปรากฎโครงสร้างกำแพงกันคลื่นก็จะกระทบกับวิถีชีวิต ภายหลังศาลพิพากษาให้ผู้ฟ้อง(ชาวบ้าน) ชนะคดี โดยวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการมิชอบด้วยกฎหมาย
เหตุการณ์ที่ทำให้กระแสกำแพงกันคลื่น ได้รับความสนใจจากสังคมที่สุดคือ กรณีการปรากฎโครงสร้างกำแพงกันคลื่นบนชายหาดท่องเที่ยว

ปี 2564 มีกระแสพบหาดท่องเที่ยวอย่างชะอำ จ.เพชรบุรี และ ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งการมีอยู่ของกำแพงกันคลื่น มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเหตุว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะในอดีต พื้นที่ดังกล่าว เป็นหาดสำคัญและมีประชาชนนิยมเดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจ เมื่อเห็นภาพที่ไม่คุ้นชิน จึงทำให้เกิดกระแสะการต่อต้าน
ติดตามสกู๊ปข่าวที่เกี่ยวข้องได้ที่ 👇🏻
นักอนุรักษ์ค้านแนวคิดกำแพงกันคลื่นหาดชะอำ >> https://youtu.be/lynPQSKYCag
The Last Beach เมื่อหาดทรายถูกแทนที่ด้วยกำแพงกันคลื่น >> https://fb.watch/hjHcSneVgZ/
“กำแพงกันคลื่น” แก้การกัดเซาะชายฝั่งได้ยั่งยืนหรือไม่? >> https://youtu.be/FDfxhNdcFws
ที่มาทำให้กลุ่มภาคประชาชนต้องเคลื่อนไหว
แม้จะมีการคัดค้านมากขึ้น เนื่องจากเริ่มเห็นว่า บางพื้นที่ ปัญหาการกัดเซาะยังคงดำเนินต่อไปแม้จะมีกำแพงกันคลื่นแล้วก็ตาม แต่แม้จะมีเสียงสะท้อน หน่วยงานรัฐก็ยังคงเพิกเฉยและเดินหน้านำงบประมาณมาก่อสร้างโครงสร้างดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า งบประมาณที่นำมาใช้เพิ่มขึ้นทุกปี แทนที่จะลดลง หากกำแพงกันคลื่นสามารถแก้ปัญหาได้จริง เหตุใดจึงยังคงต้องสร้างเรื่อย ๆ และยังเกรงว่า ชายหาดสำคัญหรือหาดท่องเที่ยวของไทยจะถูกแทนที่ด้วยกำแพงกันคลื่นทั้งหมด อีกทั้งยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยที่ทำให้รัฐสามารถใช้งบประมาณได้อย่างง่ายดาย มาจากการเพิกถอน การทำ EIA ออกจากโครงการนี้หรือไม่ จึงทำให้กลุ่มภาคประชาชน รวมตัวกันเดินทางมายื่นข้อเสนอให้รัฐพิจารณานำเอา การทำ EIA กลับมา
ขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนจากฝั่งกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยนายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ยืนยันกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ว่าทุกโครงการทางหน่วยงานได้จัดทำการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ก่อน 3 ครั้ง และมีการนำเสนอรูปแบบการแก้ปัญหาให้ประชาชนเลือก ผลที่ออกมายึดจากความต้องการของคนในพื้นที่ ส่วนการตั้งข้อสังเกตเรื่องงบประมาณที่เพิ่มขึ้นนั้น มองว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นโครงการตกค้างที่สะสมไว้ก่อนช่วงที่จะมีการถอด EIA เพราะบางจุดประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง แต่ขั้นตอนการทำ EIA ทำให้โครงการล่าช้า เมื่อไม่ต้องทำ EIA จึงทำให้เกิดโครงการสร้างกำแพงกันคลื่นบริเวณพื้นที่ได้รับผลกระทบที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหามาก
ติดตามสกู๊ปข่าวที่เกี่ยวข้องได้ที่ 👇🏻
ชายหาดผืนสุดท้ายสะท้อนปัญหากัดเซาะชายฝั่งแห่งชาติ >> https://youtu.be/Juu9WkvA7FE

สถานการณ์ล่าสุด
วันที่ 25 พ.ย. 65 กลุ่ม Beach for life และภาคประชาชนอีกกว่า 93 เครือข่าย เดินทางมายื่นหนังสือต่อสำนักนายกรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2534 ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้สร้างกำแพงป้องกันชายฝั่ง 2.การสร้างกำแพงกันคลื่นต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนที่จะพิจารณาก่อสร้างกำแพงนั้น เพื่อให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วม และ 3.ขอให้กำหนดให้มีแผนฟื้นฟูชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากกำแพงกันคลื่น
6 ธ.ค. 65 กลุ่ม Beach for life และภาคประชาชนอีกกว่า 93 เครือข่าย เดินทางมาชุมนุมที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อนจะไปจัดกิจกรรมที่ หอศิลป์กรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อหวังให้ กลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนเมืองหันมาสนใจปัญหานี้ ก่อนจะเดินทางไปปักหลักต่อ เพื่อกดดันให้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ลงนาม MOU ประเด็นพิจารณาการทำ EIAในทุกโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น
7 ธ.ค. 65 หลังปักหลักค้างคืนแต่ยังไม่เป็นผล ในช่วงบ่าย กลุ่ม Beach for life ได้เคลื่อนขบวน ไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ คณะรัฐมนตรี ให้ความสนใจกับปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐ จึงปักหลักค้างคืน และประกาศว่าจะยุติชุมนุมต่อเมื่อรัฐบาล ยอมรับข้อเสนอ ที่ได้เรียกร้องไป
8 ธ.ค. 65 นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางมาพูดคุยกับชาวบ้าน Beach for life ที่ปักหลักอยู่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ก่อนจะพาแกนนำไปร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า และ ทส. ใช้เวลานานกว่า 3 ชม. จนมีมติร่างข้อตกลงแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาปัญหากัดเซาะชายฝั่งและกำแพงกันคลื่น โดย คณะกรรมการชุดนี้ถือว่าเป็นที่ยอมรับ และมีความน่าเชื่อถือ ประกอบด้วย นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ตัวแทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมเจ้าท่า เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ 3 คน ภาคประชาชน 3 คน เป็นกรรมการ ตัวแทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเลขานุการ
ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ จะศึกษาแนวทางตาม 3 ข้อเรียกร้องของ Beach for life เพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ในการเรียกหน่วยงานเข้ามาชี้แจง ติดตาม และตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อให้การดำเนินงานรวดเร็วมากขึ้น ผู้ชุมนุมจึงพอใจและประกาศยุติการชุมนุม อย่างไรก็ตาม แม้การชุมนุมจะยุติแต่ทุกฝ่ายยังคงจับตาการทำงานของคณะทำงานชุดนี้ว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้หรือไม่