
ประชากร สัตว์โลก มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง และมนุษย์เหลือเวลาไม่มากนักที่จะแก้ไขสิ่งนี้ นี่เป็นข้อสรุปของรายงานล่าสุดที่กองทุนสัตว์ป่าโลกหรือ WWF และ สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอนได้วิเคราะห์ข้อมูลจำนวนประชากรสัตว์ป่ากว่าหลายพันตัวที่เก็บบันทึกในระยะเวลาหลายปีทั่วโลกและพบว่าความหลากหลายทางชีวภาพของโลกมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ
ดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Living Planet Index ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดที่ใช้มาแล้วกว่า 50 ปี ระบุว่า ประชากรสัตว์มีจำนวนลดลงโดยเฉลี่ย 69% ทั่วโลกในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2513 และ 2561
แม้ว่าไม่ใช่สัตว์ทุกชนิดที่มีจำนวนลดลง และประชากรสัตว์ในบางพื้นที่ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่อื่น แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างใหญ่หลวงเป็นสัญญาณที่ชัดเจนและน่าเป็นห่วงสำหรับอนาคตของธรรมชาติทั่วโลก
Marco Lambertini อำนวยการใหญ่ WWF สากล กล่าวว่ารายงานมีสาระที่ชัดเจน นับเป็นการส่งสัญญาณเตือนขั้นวิกฤตถึงมนุษย์
ผู้เขียนรายงานหลายคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า สาเหตุหลักของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพคือ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การบริโภคพลังงาน และการตัดไม้ทำลายป่า
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่าภาวะโลกรวน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบมากมายกับพืชและสัตว์ทั่วโลก อาจกลายเป็นสาเหตุหลักของการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ หากอุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซสเซียส

ผู้อำนวยการใหญ่ WWF สากล กล่าวเพิ่มเติมว่า วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพและภาวะโลกรวนที่สัมพันธ์กันนี้ เป็นสาเหตุของปัญหาหลายอย่างที่มนุษย์กำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการตายและการไร้ที่อยู่อาศัยจากสภาพอากาศสุดขั้ว การไม่สามารถเข้าถึงน้ำและอาหารได้ และการแพร่ระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน
เขาเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ที่จะเข้าร่วมประชุมความหลากหลายทางชีวภาพแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Biodiversity Conference ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อบรรเทาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
เขาย้ำว่า ครั้งนี้อาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะกำหนดว่ามนุษย์จะแพ้หรือชนะในการต่อสู้เพื่อรักษามนุษย์ด้วยกันและธรรมชาติไว้ อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า สัญญาณต่างๆ ยังสู้ไม่ดีนัก เพราะการหารือยังคงผูกติดกับความคิดแบบเดิม ๆ และท่าทีที่ไม่โอนอ่อนผ่อนปรน โดยยังไม่มีวี่แววของการกระทำที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่อนาคตที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ในรายงานได้ระบุถึงหนทางแก้ไขการสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่การอนุรักษ์ป่าชายเลน การแลกเปลี่ยนของต่อของข้ามชายแดนในทวีปแอฟริกา ไปจนถึงการขจัดอุปสรรคในการย้ายถิ่นที่อยู่ของปลาน้ำจืด

Rebecca Shaw หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ WWF กล่าวว่า มนุษย์ยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงการกระทำต่างๆ เพื่อรักษาธรรมชาติไว้ โดยมนุษย์ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาจากแบบเดิม รวมถึงรูปแบบการผลิตอาหาร การบริโภคอาหารที่ไม่ยั่งยืน และการปล่อยอาหารให้เหลือทิ้ง
เธอกล่าวว่า “เรามีโอกาสที่จะเปลี่ยนวิธีการผลิตอาหาร เปลี่ยนอาหารที่เราบริโภค และเปลี่ยนวิธีการบริโภคอาหาร รวมไปถึงอาหารที่เหลือทิ้งจากการบริโภคของเรา สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำได้ทุกวันจะสามารถเปลี่ยนแปลงแนวโน้มจำนวนสัตว์โลกที่ลดลง”
รายงานนี้ได้คำนวนจำนวนการเปลี่ยนแปลงโดยเฉลี่ยของความชุกชุมสัมพัทธ์ หรือ relative abundance ของจำนวนสัตว์ป่า 31,821 ตัวจากทั้งหมด 5,230 สายพันธุ์

รายงานพบว่า ทวีปละตินอเมริกาและแถบแคริบเบียนมีจำนวนประชากร สัตว์ โดยเฉลี่ยลดลงไปถึง 94% และ 66% ในทวีปแอฟริกา ขณะที่ประชากรสัตว์ป่าลดลงเพียง 20% ในทวีปอเมริกาเหนือและ 18% ในทวีปยุโรป
ทั้งนี้ WWF อธิบายว่า สัดส่วนที่แตกต่างกันนี้อาจเป็นเพราะการพัฒนาจำนวนมากในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปเกิดขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2513 ก่อนที่จะมีการเก็บข้อมูลการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนั่นเอง