
กรณีข่าวลือที่ว่าจะเกิด “สึนามิ” ลูกที่ 3 ในประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทย ทำให้ประชาชนหลายคนเกิดตื่นตระหนก กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ เกี่ยวกับข้อมูลการแจ้งเตือนสึนามิ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย สามารถแจ้งเตือนได้ล่วงหน้า 45 นาที โดยเป็นการนำข้อมูลขนาด ความลึก ตำแหน่งที่เกิดแผ่นดินไหวที่มีผลกระทบกับประเทศไทย เข้าสู่โปรแกรม TOAST ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้กันทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์สัญญาณคลื่นเตือนก่อนการเกิดสึนามิจากแผ่นดินไหวที่จะเข้าสู่ประเทศไทยได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นข่าวลือดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง
นายกลวัชร ทรัพย์ส่งสุข ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยืนยันว่า หากประเทศไทยจะเกิดสึนามิจริง จะได้รับการแจ้งเตือนอย่างรวดเร็วทันที เพราะที่ผ่านมาหลังจากเหตุการณ์สึนามิปี 2547 ได้มีการทดสอบและมีการตั้งรับด้วยเทคโนโลยีและการประสานข้อมูลกับนานาประเทศเพื่อเฝ้าระวัง ซึ่งพบว่าการเกิดสึนามิมากกว่า 80% เกิดจากแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล ซึ่งกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวกรมอุตุนิยมวิทยา มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจเฝ้าระวัง ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถรายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ ได้ภายในเวลา 22 นาที สามารถแจ้งเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าได้อย่างน้อย 45 นาที ก่อนที่คลื่นลูกแรกจะกระทบชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย
สำหรับการเฝ้าระวังการเกิดสึนามิฝั่งอันดามัน จะมีข้อมูลจากทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทย จำนวน 2 ตัว ตัวแรกติดตั้งในมหาสมุทรอินเดีย (สถานี 23401) กรณีเกิดสึนามิสามารถยืนยันคลื่นสึนามิที่จะกระทบชายฝั่งทะเล อันดามันของประเทศไทย ล่วงหน้า 1 ชั่วโมง 45 นาที ตัวที่สองติดตั้งในทะเลอันดามัน (สถานี23461) กรณีเกิดสึนามิสามารถยืนยันคลื่นสึนามิที่จะกระทบชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ล่วงหน้า 45 นาที และใช้ข้อมูลจากต่างประเทศมาประกอบการวิเคราะห์ ทั้งข้อมูลจากทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ ของสาธารณรัฐอินเดีย ที่จะให้ข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลแถบมหาสมุทรอินเดีย จากหน่วยงาน ในประเทศและต่างประเทศ และสถานีตรวจระดับน้ำทะเลเกาะซาบัง ของประเทศอินโดนีเซีย และยังใช้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลบริเวณสถานีเกาะเมียง จังหวัดพังงา ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถานีเกาะราชาน้อย จังหวัดภูเก็ต ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ขณะที่การเฝ้าระวังการเกิดสึนามิฝั่งอ่าวไทย จะใช้ข้อมูลจากทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และ ข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลหรือภูเขาไฟระเบิดในทะเลแถบมหาสมุทรแปซิฟิก จากหน่วยงานในประเทศ และต่างประเทศ ได้แก่ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ,สถานีตรวจระดับน้ำทะเล สถานี Pulau Perhentian ของประเทศมาเลเซียและสถานีตรวจระดับน้ำทะเลสถานี Vung Tau ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม