ในการประชุมเรื่องสภาพภูมิอากาศ ของยูเอ็นที่จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว สกอตแลนด์ เมื่อปีที่แล้ว หรือ COP26 บรรดาประเทศต่างๆ ธนาคาร และผู้บริหารธุรกิจต่างประกาศแผนการและคำมั่นในการแก้ปัญหาโลกรวนในหลายรูปแบบ มาดูกันว่าคำมั่นสัญญาที่สำคัญๆ มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้วหลังจากผ่านไปครบหนึ่งปี

แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ
เกือบ 200 ประเทศได้ตกลงกันในการประชุม COP26 เมื่อปีที่แล้วว่าจะปรับปรุงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตนเอง หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ให้ทันก่อนการประชุม COP27 แต่มีเพียง 24 ประเทศเท่านั้นที่ทำได้สำเร็จ ซึ่งหมายถึงโลกจะยังคงดำเนินไปสู่จุดที่อุณหภูมิเพิ่มสูงกว่า 2 องศาเซสเซียสก่อนยุคอุตสาหกรรม
จากการประชุมเมื่อปีที่แล้ว ประเทศที่ต้องลดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย โดยประเทศเหล่านี้ให้คำมั่นจะลดการปล่อยก๊าซลง 43% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2548 ภายในปี พ.ศ. 2573
บราซิลได้ส่งรายงานเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งกลับอนุญาตให้มีการปล่อยก๊าซมากขึ้นเกินกว่าระดับที่ให้คำมั่นไว้เมื่อปี พ.ศ. 2559 แม้การชนะศึกเลือกตั้งของ Luiz Inacio Lula da Silva ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะทำให้มีความหวังถึงการรักษาผืนป่าแอมะซอนจากการถูกทำลายไว้ได้ก็ตาม
27 ประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับที่ 3 ของโลก มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2566 อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนยังคงฝืนแรงกดดันไม่ยอมลดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2566 ทั้งที่เป็นเป้าหมายจำเป็นสำหรับการหลีกเลี่ยงหายนะจากภาวะโลกร้อน

การตัดไม้ทำลายป่า
ในการประชุมเมื่อปีที่แล้ว มากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกให้คำมั่นที่จะยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี พ.ศ. 2566 ประเทศที่สนับสนุนข้อตกลงดังกล่าว ได้แก่ บราซิล อินโดนีเซีย และคองโก ซึ่งมีพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนรวมกันมากกว่า 80% ของทั้งโลก
เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว การตัดไม้ทำลายป่าจำเป็นต้องลดลง 10% ต่อปี เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2563 อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของ Forest Declaration Platform ซึ่งติดตามความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว การตัดไม้ทำลายป่าลดลงเพียง 6.3% เท่านั้นเมื่อปีที่ผ่านมา ซ้ำร้ายยังพบว่าป่าแอมะซอนถูกทำลายมากที่สุดเมื่อปีที่แล้วนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา โดยข้อมูลเบื้องต้นของรัฐบาลระบุว่าผืนป่าแอมะซอนถูกทำลายไปถึง 23% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2565
อย่างไรก็ตาม การตัดไม้ทำลายป่าในอินโดนีเซียลดลงนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ขณะที่คองโกกลับประกาศเปิดทางให้มีการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในพื้นที่ป่าฝนดิบและป่าพรุที่อุดมไปด้วยแหล่งคาร์บอน
คำมั่นลดปล่อยก๊าซมีเทน
จนถึงปัจจุบัน 119 ประเทศและกลุ่มประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปได้ร่วมกันให้คำมั่นเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2563 ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 แต่จากการรายงานของสถาบัน World Resources Institute พบว่า มีเพียง 15 ประเทศเท่านั้นที่มีแผนการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
คาดว่าจะมีหลายประเทศเสนอยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซมีเทนก่อนการประชุม COP27 ที่อียิปต์ ขณะเดียวกันคาดว่าจีนจะแถลงความคืบหน้าในการติดตามการปล่อยก๊าซมีเทนของตนเอง จากคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ตามข้อตกลงระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีนที่ประกาศในการประชุม COP26 เมื่อปีที่แล้ว
การปล่อยก๊าซมีเทนกลายเป็นจุดสนใจเมื่อองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกของยูเอ็นได้มีคำเตือนถึงความเข้มข้นของระดับก๊าซมีเทนรายปีที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกในปี พ.ศ. 2564 หรือเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว

การยุติการใช้พลังงานฟอสซิล
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว 20 กว่าประเทศทั่วโลก รวมถึง เยอรมนี สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร และ ฝรั่งเศส ต่างให้คำมั่นจะยุติการลงทุนจากภาครัฐในต่างประเทศในโครงการพลังงานฟอสซิลให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2565 เพื่อแก้ภาวะโลกรวน ยกเว้นเฉพาะ “บางกรณีพิเศษ” ที่การปล่อยก๊าซไม่เกินกว่าเป้าหมายข้อตกลง
ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีบางประเทศให้คำมั่นเพิ่มเติมในการประชุม COP27 ประเทศที่ร่วมลงนามไปก่อนหน้าต่างอยู่ภายใต้แรงกดดันให้เปลี่ยนข้อตกลงที่ไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมายให้เป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรม เช่น เดียวกับที่ประเทศฝรั่งเศสทำมาแล้ว
ประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีการประกาศใช้นโยบายดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เองจึงก่อให้เกิดคำถามถึงความเข้มข้นของข้อตกลงนี้ ขณะเดียวกัน ปีนี้ เยอรมนีได้ประกาศลงทุนการขุดเจาะก๊าซเพิ่มเติมเพื่อดิ้นรนหาแหล่งก๊าซทดแทนจากแหล่งที่มาจากรัสเซีย ซึ่งนักรณรงค์ต่างให้ความเห็นว่าอาจเป็นการละเมิดข้อตกลงที่เยอรมนีให้ไว้
ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศพันธมิตรเพื่อยุติการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ หรือ Beyond Oil and Gas Alliance ซึ่งก่อตั้งโดยเดนมาร์กและสวีเดนเมื่อการประชุม COP26 ปีที่แล้ว มีความหวังจะได้สมาชิกใหม่เพิ่มในการประชุม COP27 นี้ และได้นับฝรั่งเศสและสวีเดนเข้าเป็นสมาชิก แต่กลับยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศผู้ผลิตพลังงานฟอสซิลหลักของโลก

หนึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐภายในปี พ.ศ. 2566
ความล้มเหลวของประเทศร่ำรวยในการให้เงินสนับสนุนประเทศยากจนกว่าได้ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจในการประชุมครั้งที่ผ่านมาและทำให้การสร้างความร่วมมือเป็นไปได้ยากขึ้น
หัวใจของปัญหาคือ คำมั่นที่ประเทศพัฒนาแล้วได้ให้ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่จะให้เงินจำนวนหนึ่งแสนล้านเหรียญต่อปีแก่ประเทศกลุ่มเปราะบางภายในปี พ.ศ. 2563
เงินจำนวนนี้มีคุณค่าในเชิงสัญลักษณ์ แม้จะมีมูลค่าน้อยกว่าจำนวนเงินที่แท้จริงที่ประเทศยากจนต้องใช้เพื่อรับมือกับผลกระทบแสนสาหัสจากภาวะโลกรวน
ประเทศร่ำรวยให้เงินน้อยกว่าเป้าหมาย ไปถึง 16.7 พันล้านเหรียญในปี พ.ศ. 2563 และส่อแววว่าจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้จนถึงปี พ.ศ. 2566 ทั้งนี้ การวิเคราะห์ของเยอรมนีและแคนาดาระบุว่า ประเทศร่ำรวยจะสามารถให้เงินได้เกินเป้าหมายหนึ่งแสนล้านเหรียญในไม่กี่ปีหลังจาก พ.ศ. 2566
การทำให้ธุรกิจรักษ์สิงแวดล้อม
ก่อนการประชุม COP26 เมื่อปีที่แล้ว มีการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางการเงินเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Glasgow Financial Alliance for Net Zero (GFANZ) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของสถาบันบริการทางการเงินที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในภาคธุรกิจที่ตนเองดูแล ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 550 บริษัท รวมถึงธนาคาร บริษัทประกันภัย และบริษัทบริหารหลักทรัพย์ชั้นนำส่วนใหญ่ของโลกซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 150 แสนล้านเหรียญ
ตั้งแต่มีการรวมกลุ่มกัน บริษัทบริหารหลักทรัพย์ 118 แห่ง บริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ 44 แห่ง และธนาคาร 53 แห่งต่างตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้น และอีกหลายแห่งกำลังจะมีการออกเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซตามมา
นอกจากนี้ กลุ่มพันธมิตร GFANZ ซึ่งนำโดยอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติของอังกฤษ Mark Carney ยังมีการออกโครงการต่างๆ ที่เร่งสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างบรรทัดฐานและกรอบในการเปิดเผยข้อมูลและการตั้งเป้าหมายต่างๆ
อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่ม GFANZ ว่าด้อยประสิทธิภายในการดำเนินการอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังพบการให้เงินทุนแก่บริษัทที่ขยายฐานการผลิตพลังงานฟอสซิล อีกทั้ง เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวต่างวิจารณ์การยกเลิกข้อบังคับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม GFANZ ที่กำหนดให้สมาชิกลงนามในแคมเปญรณรงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยูเอ็นเสียก่อน

มาตรฐานการรายงานข้อมูล
ระหว่างการประชุม COP26 เมื่อปีที่แล้ว ได้มีการประกาศให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยมาตรฐานสากลทางความยั่งยืน หรือ International Sustainability Standards Board (ISSB) เพื่อกำหนดมาตรฐานเพื่อรายงานข้อมูลทางสิ่งแวดล้อมจากบริษัททั่วโลก ท่ามกลางความไม่พอใจของเหล่านักลงทุนและบริษัทต่างๆ
นับแต่นั้นมีการแต่งตั้ง Emmanuel Faber อดีตผู้บริหารบริษัทผลิตโยเกิร์ตชื่อดังของฝรั่งเศส Danone เป็นประธานคณะกรรมการฯ และแต่งตั้งคนดังอีกหลายคนเป็นผู้บริหารของคณะกรรมการฯ เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติให้เสร็จสิ้นภายในปี พ.ศ. 2566
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกากลับเดินหน้าออกกฎเกณฑ์ของตนเอง โดยมีความแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อย สร้างความกังวลให้กับบริษัทต่างๆ ถึงค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันและความชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว