
ปัจจุบันในหลายประเทศทั่วโลกมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ขยะต่างๆเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติกจากอาหารเดลิเวอรี หรือขยะหน้ากากอนามัย ที่กำลังกลายเป็นมลพิษใหม่ของโลก และยังตกค้างในสิ่งแวดล้อมรวมถึงเกิดปัญหาในการกำจัด
วันนี้เราเลยมีงานวิจัยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่ได้เห็นขยะช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ตกค้างในสิ่งแวดล้อม จึงอยากหาวิธีที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากร และลดขยะเหล่านี้ ด้วยการ “รีไซเคิลขยะหน้ากากอนามัย” เป็น “ถนนคอนกรีต”
Dr. Mohammad Saberian นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย RMIT ประเทศออสเตรเลีย ได้หาทางออกให้กับเรื่องนี้ ด้วยการนำขยะหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งที่ผลิตจากผ้าชนิดไม่ถักทอจากเส้นใยพอลิโพรพิลีน (Polypropylene, PP) นำมารีไซเคิลเป็นวัสดุทำพื้นถนนหรือทางเท้า ด้วยการนำมาผสมลงในคอนกรีตรีไซเคิล จากการทดลองนี้พบว่า ถนนมีความแข็งแรงและความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น ซึ่งการทำถนน 2 เลนระยะทาง 1 กิโลเมตร จะต้องใช้ขยะหน้ากากอนามัยถึง 3 ล้านชิ้น นับว่าเป็นอีกวิธีที่ช่วยแก้ปัญหาขยะติดเชื้อล้นเมืองได้เป็นอย่างดี
ขณะนี้ปัญหาขยะหน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ป้องกัน PPE อื่นๆเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยตกค้างในสิ่งแวดล้อมทั้งบนบก และในน้ำ คาดการณ์ว่ามีหน้ากากอนามัยถูกใช้ และทิ้งกว่า 6.8 พันล้านชิ้นต่อวัน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาขยะหน้ากากอนามัยเป็นสิ่งเร่งด่วนที่เราทุกคนต้องช่วยกัน
ที่มา : https://www.theguardian.com/…/australian-researchers…