คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยจากขยะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน มีข้อมูลว่าทั่วประเทศ มีโรงงานประเภท 105 (โรงงานคัดแยกของเสีย และฝังกลบของเสีย ) และ ประเภท 106 (โรงงานรีไซเคิล) อยู่ในพื้นที่ชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรม ตามคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ม. 44 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม
สำหรับประกอบกิจการบางประเภท (กิจการด้านพลังงาน และการจัดการขยะ ทั่วประเทศ 722 แห่ง อันดับ 1 จ.สมุทรสงคราม 152 แห่ง ส่วน อันดับ 2 และ 3 อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก คือ ฉะเชิงเทรา 105 แห่ง และปราจีนบุรี 76 แห่ง
ข้อมูลจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ ปี 2564 – 2565 พบว่าการลักลอบทิ้งของเสียในประเทศไทยมากที่สุดอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี
ขณะที่ภาพรวมการลักลอบทิ้งของเสียในประเทศไทย มกราคม 2560 ถึงธันวาคม 2564 มีการแจ้งข้อมูลมากถึง 322 ครั้ง 3 อันดับแรก คือ จังหวัดระยอง 34 ครั้ง ชลบุรี 25 ครั้ง และสมุทรสาคร 25 ครั้ง จากตัวเลขทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า
ภาคตะวันออกของไทย เป็นพื้นที่พบกากขยะอุตสาหกรรม เป็นอันดับ 1 ของประเทศ
เสียงสะท้อนจากพื้นที่ ถูกสื่อสารขึ้นอีกครั้ง ในช่วงการเลือกตั้ง เพื่อหวังว่า ภาคการเมืองที่มีส่วนสำคัญ จะทำให้การควบคุม บังคับใช้กฎหมาย และตรวจสอบมีประสิทธิภาพ หลังจากที่พวกเขาพยายามต่อสู้มานานกว่า 10 ปี

ข้าวหนีนา ปลาหนีน้ำ เพราะมีแต่สารพิษ ฉลอง บุรุษภาพ ชาวบ้านใกล้พื้นที่พบลักลอบทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี
“ถอดใจ หมดกำลังใจ อยากจะย้ายหนีไปที่อื่น คนเดี๋ยวนี้ขาดคุณธรรม เอาเงินเป็นที่ตั้ง อย่างโรงงานที่เกิดปัญหาก็ตั้งในที่สาธารณประโยชน์ ชาวบ้านอย่างเรามันอัดอั้นตันใจ มันผิดธรรมชาติ แทนที่จะช่วยให้ธรรมชาติมันกลับคืนสู่สภาพเหมือนเดิม ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เห็นน้ำใสไหลเฉื่อยๆ โดดเล่นเหมือนเมื่อก่อน
เดี๋ยวนี้ไปลงอาบน้ำ คัน โดดไม่ได้ ผักบุ้งในทุ่งนาเคยเก็บกิน อย่างอุดมสมบูรณ์ไม่มีเรียบร้อย ตายหมด บึงในบัวก็ตายเรียบ หอยในน้ำก็ไม่เหลือ เพราะอะไร เพราะโรงงานแบบนี้แหละมันขึ้นมา ในหลวงรัชกาลที่ 9 บอก พื้นที่นี้มันไม่เหมาะกับภาคอุตสาหกรรม มันเหมาะกับเกษตรกรรม ก็รั้นเอาโรงงานมา โดยเฉพาะนักการเมือง สส.ท้องที่ ที่เอาเข้ามา
สารเคมีบางที่เอามาตอนตีสองตีสาม แล้วก็มาทิ้ง มันพูดไม่ได้ ชาวบ้านกลัว เพราะมีนักการเมืองท้องถิ่น เขาไม่กล้าพูด เขากลัวความปลอดภัย สิทธิชาวบ้านมันไม่มี มันไม่มีที่พึ่ง สตง.เคยมา ชาวบ้านบอกไม่มีที่พึ่ง แจ้งใครก็ไม่สนใจ เขารับปาก แล้วเขาก็เงียบไปอีก
มันลักลอบทิ้งสองปี กว่าเราจะรู้ที่ไหนได้ ลงทุ่งนา ข้าวปลาหายไปหมด ปลาแต่ก่อนนี้ไม่ยาก เดี๋ยวนี้ไม่มี เพราะน้ำมันเสีย ปลามันก็ถอย เมื่อก่อนนี้ทำนา ได้ข้าวสิบกว่าเกวียน เดี๋ยวนี้ไม่มีข้าวเกี่ยว บางแปลงไม่เกี่ยว ปล่อยทิ้ง ข้าวหนีนา ปลาหนีน้ำ อาหารธรรมชาติ ห่วงโซ่อาหารของคน ลดน้อยถอยลง เมื่อก่อนไม่ซื้อ หากินตามธรรมชาติ เดี๋ยวนี้ซื้อทุกอย่าง

สำราญ วงษ์สาโสม ชาวบ้านพื้นที่ติดบ่อขยะอุตสาหกรรม จ.สระแก้ว
“มันก็นานมาก มันก็เหมือนเดิม เราสู้มาเป็นสิบปี แต่เราก็ต้องทนอยู่ เพราะเราทำกินอยู่ที่นี่อยู่แล้ว ขยะมันมาทีหลัง เราหนีไปไหนไม่ได้
มันเหม็น มีกลิ่น มีน้ำลงไป โดยเฉพาะหน้าฝน เวลามันเหม็นมันจุกหน้าอก อย่างเรานั่งกินข้าว อากาศปิดมันก็กินไม่ได้ ทำงานไม่เต็มที่ ปกติเราทำได้ผลผลิตเต็มที่ เหม็นจนเราต้องออกจากนาไป
เราต้องเปลี่ยนอาชีพ เพราะทำได้ไม่เต็มที่ ไปค้าขาย ต้องปรับตัว ไปขายของตามตลาดนัด เพราะเรามีภาระ ค่าใช้จ่าย เมื่อก่อนปีนึงเรามีเงินเก็บเป็นแสน แต่พอทำไม่เต็มที่ จากทำนาแล้วปลูกมัน ข้าวโพด สลับ แต่นี่ทำไม่ได้ เพราะมันเหม็นมาก ทำได้แค่นา ปล่อยทิ้งไว้ ผลผลิตก็ไม่ได้ ไม่มีเงินเก็บ ช่วงหน้านาก็ทำนา พอเสร็จก็เปลี่ยนไปขายของ
มันไม่ยุติธรรม เราชาวบ้าน เขาพูดยังไงก็ได้ เรารู้แค่ว่ามันเปลี่ยนไป แม้ผลตรวจมันไม่เจอ เขาบอกไม่เจอ ก็ไม่เจอ สู้ก็สู้กันไป ก็แค่ตาย
มันจะไปเรียกร้องสิทธิ อะไรที่ไหนได้ หน่วยงานไหนมาก็เหมือนเดิม ผลสุดท้ายก็เหมือนเดิม เราชาวบ้านพูดอะไรไม่ได้ เขาไม่ได้อยู่กับเรา แต่เราต้องอยู่กับมัน ก็อยู่กันจนว่า ขยะมันไม่ตาย แต่เราตายไปข้างนึง”

สนิท มณีศรี ชาวบ้านในพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษจากโรงงานกำจัด จ.ระยอง
“สิบปีหน่อย ๆ ละ ต่อสู้กันมา ชาวบ้านก็ต่อสู้กัน ทุกวันนี้ ก็ร่อยหรอ เหลือน้อยคน เพราะบางคนไม่มีจะกิน จะให้ออกมาทำอยู่แบบนี้ คนหาเช้ากินค่ำ เขามาเสียสละ ต่อสู้ จากไม่มีอยู่แล้วก็ไม่มี ครอบครัวไม่มีกิน
ถ้ามองช่องว่าง คิดว่ากลุ่มทุนเขาน่าจะมีเบื้องหลัง ชาวบ้านก็ต่อสู้ ไม่ใช่แค่กลุ่มทุน บางครั้งไม่รู้ว่าต่อสู้กับอะไร อาจจะมีหน่วยงานรัฐบางหน่วยที่รับรู้ แต่ไม่ป้องกันหรือทำอะไรได้มากกว่านี้ คิดว่าหน่วยงานรัฐมีส่วนทำให้มันเลยเถิด หรือบานปลายเกินไป คิดว่า เป็นขบวนการ
เป้าหมายมาทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกแทบทุกจังหวัด แทบจะเป็นถังขยะ เริ่มกระจายไปทั่ว
มันเป็นความเสียหาย แล้วหน่วยงานรัฐ ภาครัฐไม่แก้โดยท่วงทัน ที่ดินแม้จะฟื้นฟู แต่ต้องใช้เวลาหลายสิบปี แต่มันไม่กลับมาเหมือนเดิม มันมีความเจ็บปวด
อย่างที่นี่ ที่ดินเคยมีคนมาเสนอไร่ละล้าน พอตอนนี้ ไม่มีมูลค่า รัฐ และผู้ประกอบการน่าจะมีจิตสำนึก โดยเฉพาะทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่บ้าน เข้าไปสนับสนุน แจกของพื้นที่คนที่ไม่ได้รับผลกระทบ พอเกิดเรื่อง ทำให้ความเห็นแตกออกเป็นสองทาง มันไม่ใช่เสียเฉพาะเรื่องที่ดิน ธรรมชาติ มันเสีย แม้กระทั่งความสัมพันธ์ของชาวบ้านก็หายไป
โรงงานแบบนี้ไม่ควรเกิด ในพื้นที่เพราะเป็นเขตชุมชน วัด โรงเรียน รพ.สต.
อยู่ในพื้นที่สูง เหมือนหลังเต่า แล้วเขามาทำกิจการแบบฝังกลบ น้ำขยะสามารถกระจายได้รอบ ทำให้พื้นที่ เสียหายมาก ลามได้มาก ทางหน่วยงานไม่สมควรออกใบอนุญาตด้วยซ้ำ เพราะว่าเราเคยต่อสู้ แล้วให้เขาปิดปรับปรุง ปิดหนึ่งเดือน ก็ไม่มีไรดี แต่หน่วยงานรัฐ ก็ออกใบอนุญาตตามหลัง ทั้งที่คัดค้านกัน ชาวบ้านก็งง
ภาษาชาวบ้าน ศาลตัดสินแล้วจบแล้วไม่ใช่เหรอ เราชนะแล้วไม่ใช่เหรอ แต่เขาไม่ได้ต่อสู้คลุกคลีกับพวกเรา
ถึงเราจะชนะ แต่มันยังไม่จบ และอีกยาวไกล อย่างน้อยยี่สิบปีไม่รู้จะจบหรือเปล่า เพราะมันต้องมีการฟื้นฟู ขยับไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็ 5 จุด แค่เล็กน้อยเท่านั้น เพราะล่าสุดมันลามไปเกิน 2 กิโลเมตร แต่ก่อนแค่ไม่เท่าไร ถ้าหน่วยงานรัฐมาปิดกั้นไม่ให้รั่วซึม ลามปาม บล็อกให้มันอยู่ในเขตตรงนั้น ก็ไม่ลามขนาดนี้ สุดท้ายผู้ประกอบการ หนีล้มละลาย หน่วยงานรัฐก็ต้องหาเงินมาบำบัด กำจัด มันก็เสียงบไปเปล่า ๆ”

สมบัติ นพฤทธิ์ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากบ่อขยะอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา
“เรื่องผลกระทบมันมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นพืช ยางพารา ก็เสียหาย ชุมชนหมู่บ้านได้รับกลิ่น ฝุ่น อยู่กันอย่างทรมาน ตั้งแต่ปี 2547 ร้องเรียนร้องทุกข์กันเกือบทุกปี ก็ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาแก้ได้เบ็ดเสร็จ แม้แต่หน่วยงานท้องถิ่น
ถ้าเป็นไปได้ บ่อขยะ จากโรงงานทุกอย่าง อย่าให้เกิดเลย พอเขาอยู่ได้แล้ว ก็ไม่มีใครที่สามารถทำอะไรเขาได้ ในเมื่อเขาทำไม่ถูกต้องตามกฎฝังกลบ ก็ไม่มีใครเขาทำอะไรได้ เราเดือดร้อนอยู่ประจำ
ในบ้านคุณเองมีบ้าน แต่คุณไม่มีส้วม แล้วเอาสิ่งปฏิกูลพวกนี้มาทิ้งในหมู่บ้านของผม มาสร้างปัญหา มลภาวะให้หมู่บ้านผม มันถูกต้องหรือไม่ แล้วหมู่บ้านผมได้อะไร ในเมื่อผู้ทำกิจการได้เงิน ได้ทอง แต่พวกผมได้รับมลภาวะ ได้รับแต่สิ่งที่ทรมาน หลายๆ เรื่องที่ไม่สมควรเกิดในหมู่บ้านของเรา
คนที่ทำแบบนี้ มีจิตสำนึกหรือไม่ คุณมีบ้านคุณต้องมีส้วมของคุณเอง ไม่ใช่มาให้หมู่บ้านอื่น
หน่วยงานที่ดูแล เมื่ออนุญาตให้มาแล้ว ให้กำกับดูแล 100% ว่า ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบไหน พอมีบ่อขยะในหมู่บ้าน ก็เลยได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งที่ไช่ของหมู่บ้าน แต่เอามาจากที่อื่น ผมว่าผู้ประกอบการน่าจะไม่ธรรมดา เปิดตรงนี้ ปิดตรงนั้น เปิดตรงนั้น ปิดตรงนี้ แม้แต่การลักลอบทิ้งก็มีอยู่ประจำ
ถ้าคนที่จะดูแลประชาชน นักการเมืองมีส่วนมากที่จะช่วยได้ คือช่วยกำกับดูแล หน่วยงานกระทรวงไหนที่รับผิดชอบ ดูแลให้เกิดความเป็นธรรม กับชุมชน อย่าปล่อยให้เกิดปัญหาการลักลอบทิ้ง ในเมื่อท่านไม่สามารถควบคุมได้ และอนุญาตอยู่เรื่อยๆ เท่ากับให้ชุมชน ชนกับผู้ประกอบการ ชุมชนก็ต้องทำมาหากิน ต้องรับจ้าง ทำงาน แล้วทางผู้ประกอบการ พอได้โอกาส เริ่มรุกเริ่มทำ ผมว่าไม่เป็นธรรม”
รับชมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขยะอุตสาหกรรม
รู้สู้ภัย “กาก”…เศษซากจากอุตสาหกรรม
รู้สู้ภัย กาก 2 โรงงานราชบุรี แพ้คดี แต่ไม่จ่ายเงินเยียวยา
รู้สู้ภัย ลดอำนาจรัฐ แก้กฎหมายปลายทาง ภัยจากกากอุตสาหกรรม