จากปรากฎการณ์กระแสเรียกร้องให้รัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโครงการก่อสร้าง กำแพงกันคลื่น (seawall) กลับเข้าสู่กระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) หลังการประเมินดังกล่าว ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2556 ทำให้พบ กำแพงกันคลื่นจำนวนมาก ระบาดบนหาดทรายเกือบทั่วประเทศไทย พร้อมกับ จำนวนงบประมาณการก่อสร้างโครงการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

สมาธิ ธรรมศร นักวิชาการอิสระด้านฟิสิกส์ประยุกต์และโลกศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ บอกกับทีมศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติว่า แม้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็น 1 ในปัจจัยที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้น หรือ ทำให้พื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งหายไป แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุหลัก เพราะความจริงแล้วต้นตอของปัญหาอาจมาจากน้ำมือมนุษย์ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างแท้จริง
ก่อนจะทำความเข้าใจปัญหานี้ นักวิชาการอิสระด้านฟิสิกส์ประยุกต์และโลกศาสตร์บอกกับเราว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือการแยกให้ออกว่าพื้นที่ใดเป็นชายหาดและพื้นที่ใดเป็นชายฝั่ง เพราะที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดทั้งสองนี้คือพื้นที่เดียวกัน
กลับมาที่ความหมายของคำทั้ง 2 นี้ ดร.สมาธิ อธิบายว่า คำว่าชายหาด หมายถึง บริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาเพราะอยู่ในอิทธิพลของคลื่น หรือเรียกว่ามีพลวัตสูง จึงไม่เหมาะที่จะมีสิ่งปลูกสร้างลักษณะมั่นคงมาตั้งอยู่ในบริเวณนี้ ส่วนคำว่า ชายฝั่ง หมายถึง บริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยเพราะอยู่นอกอิทธิพลของคลื่น

เมื่อพิจารณาต่อว่าที่ผ่านมาปัญหาส่วนใหญ่ที่เรามักเผชิญคืออะไร คำตอบคือ ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน เรามักพบอาคารบ้านเรือน หรือ สิ่งปลูกสร้างบางอย่างที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ไปรุกล้ำบริเวณชายหาด ซึ่งเป็นบริเวณที่มีพลวัตสูง จนทำให้ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะเมื่อถึงช่วงฤดูมรสุม นำไปสู่การเรียกร้องขอกำแพงกันคลื่นในรูปแบบต่าง ๆ เมื่อคลื่นเข้ามากัดกินแผ่นดิน เราจึงต้องแสร้งหาวิธีป้องกัน เช่น การนำกำแพงที่แข็งแกร่งไปตั้งขวางไว้ เพราะเชื่อว่า สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จะช่วยตรึงพื้นที่ไว้ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากคลื่นขนาดใหญ่ได้ แต่แท้จริงแล้วหลักฐานทางวิทยาศาสตร์กลับชี้ให้เห็นว่า กำแพงกันคลื่นและสิ่งก่อสร้างบนหาดทรายต่างหากที่กำลังทำให้ตะกอนทรายหายไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่าผลกระทบจากพายุและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เนื่องจากกำแพงกันคลื่นที่แข็งแรง มีรูปแบบหนาทึบ และสูงชัน ตั้งตระหง่านอยู่อย่างถาวร นั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คลื่นกระทบหาดทรายแรงขึ้น แล้วกวาดเอาตะกอนทรายบริเวณฐานด้านหน้าของกำแพงกันคลื่นออกไป เป็นสาเหตุที่ทำให้หาดทรายหายไปเรื่อยๆ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง กำแพงกันคลื่น จะเริ่มเสียการทรงตัวแล้วทรุดลงมา จนกลายเป็นซากปรักหักพังในที่สุด ขณะที่พื้นที่ด้านจุดสิ้นสุดของโครงสร้างก็ยังเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรง เพราะชายหาดที่ไม่ถูกป้องกันจะถูกกัดเซาะ ทำให้รัฐพยายามที่จะต้องก่อสร้างกำแพงกันคลื่นไปอย่างไม่รู้จบ จนกว่ากำแพงจะไปชนกับเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ หรือ หัวเขา ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับ หาดบ่ออิฐ-เกาะแต้ว จ.สงขลา (..อ้างอิงข้อมูลจาก ชายหาดผืนสุดท้ายสะท้อนปัญหากัดเซาะชายฝั่งแห่งชาติ ติดตามเพิ่มเติมคลิก >> : https://youtu.be/Juu9WkvA7FE..) หรือ หาดปากน้ำปราณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (..อ้างอิงข้อมูลจาก The Last Beach เมื่อหาดทรายถูกแทนที่ด้วยกำแพงกันคลื่นติดตามเพิ่มเติมคลิก >> https://fb.watch/hs_des9FF5/ ..) จนกลายเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่าโดมิโน่ (Domino effect)
ขณะเดียวกัน เขื่อนกันทรายและคลื่น (jetty) ที่มีลักษณะคล้ายตะเกียบยื่นยาวจากบริเวณปากแม่น้ำออกไปสู่ทะเลก็เป็นปัจจัยที่สร้างความแปรปรวนให้กับระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่ผ่านมาเรามักพบว่า ตะกอนจากแม่น้ำไหลไปตกในทะเลไกลจากหาดและดักตะกอนที่ไหลเลียบมาตามหาด เมื่อเวลาผ่านไป หาดด้านหนึ่งจึงงอก แต่หาดอีกด้านถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง เช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับหาดสะกอม จ.สงขลา (..อ้างอิงข้อมูลจาก 26 ม.ค.นี้ศาลตัดสินคดีประวัติศาสตร์เขื่อนกันคลื่น “หาดสะกอม” ติดตามเพิ่มเติมคลิก >> : https://youtu.be/PLljibDZVKY ..)

ตะกอนที่เกิดจากการย่อยสลายผุพังของหินที่มีอยู่ก่อนหน้าบนพื้นที่ เชิงเขา ร่องเขา และ ทางน้ำ ในอดีตอาจเคยไหลผ่านแม่น้ำ ลำคลอง ลงสู่ทะเล ทำให้เกิดการพัดพาไปสู่การงอกใหม่ของพื้นที่ชายหาด แต่ขณะนี้เริ่มหายไปเรื่อย ๆ เพราะมีการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำลำคลอง, การเปลี่ยนแม่น้ำลำคลองธรรมชาติเป็นทางน้ำหิน-คอนกรีต ทำให้เกิดการดักตะกอนไว้ไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล และเมื่อปริมาณตะกอนจากธรรมชาติที่จะมาช่วยเติมพื้นที่ชายหาดหายไป ประกอบกับ กระแสลมในช่วงฤดูมรสุมที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศ จึงทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งยังมีอีกหลายอย่าง เช่น การปลูกพืชต่างถิ่น การทำลายป่าชายเลน การทำลายสังคมพืชทะเล การทำลายปะการัง การทำนากุ้ง-นาเกลือ การสูบน้ำบาดาล การก่อสร้างท่าเรือ การทรุดตัวของชายฝั่ง แผ่นดินไหว สึนามิ การเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำ และความแปรปรวนของภูมิอากาศ โดยสาเหตุแต่ละอย่างอาจมีน้ำหนักของผลกระทบไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เรากำลังพิจารณา
คำถามคือ หน่วยงานราชการไทย ได้ให้ความสนใจศึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังหรือไม่?
การเพิ่มขึ้นของกำแพงกันคลื่น ตลอดระยะเวลา กว่า 10 ปี อาจเป็นเครื่องยืนยันว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจไม่เคยให้ความสำคัญกับการวิจัยและการสื่อสารความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อทำให้เงินภาษีประชาชนที่นำมาใช้ในแต่ละโครงการ มีความคุ้มค่า สามารถแก้ปัญหาได้จริง กลับกัน ยังมีความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า กำแพงกันคลื่นรูปแบบต่าง ๆ คือยาแก้อาการป่วยชั้นเลิศ ที่จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ทุกพื้นที่ จึงทำให้หาดท่องเที่ยวสำคัญที่ในอดีตมีความสวยงาม และเป็นตำนานที่ควรอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้มาชื่นชม ถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นโครงสร้างบันได ทอดยาวตลอดแนวริมทะเล ระยะทางหลายกิโลเมตร จนธรรมชาติขาดสมดุล ที่แย่ที่สุดคือ เมื่อมีเสียงคัดค้าน หรือ ไม่เห็นด้วย พวกเขาไม่เพียงไม่รับฟังเท่านั้น แต่ยังสรรหานานาสารพัดวิธีที่จะทำให้เสียงเหล่านี้เงียบลง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอบสนองความต้องการของคนเพียงไม่กี่คน

แล้วการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของไทยในมุมมองของนักวิชาการ ควรเดินไปในรูปแบบไหน?
นักวิชาการอิสระด้านฟิสิกส์ประยุกต์และโลกศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทั้งริมชายหาด และ ริมชายฝั่ง มีความจำเป็นจะต้องปรับตัว โดยสิ่งที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อจากนี้ไป คือการออกแบบเมืองยุคใหม่ให้สอดคล้องและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การก่อการร้าย และการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนได้อาศัยอยู่ท่ามกลางสภาวะที่มีความปลอดภัย ยั่งยืนและมีสภาพแวดล้อมที่ดี ส่วนพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง อาจต้องเริ่มจากการหยุดรุกล้ำพื้นที่ชายหาด ควบคู่กับการฟื้นฟูชายหาด ย้ายคันกั้นน้ำ ถนน และสิ่งก่อสร้างขึ้นมาบนชายฝั่ง จากนั้นจึงออกแบบและพัฒนาที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล เส้นทางคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ โดยอาศัยแนวคิดเรื่องสถาปัตยกรรมลอยน้ำ (floating architecture)

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก :