เครื่องหมายอัศเจรีย์

การประชุมด้านสัตว์ป่า อนุมัติการอนุรักษ์ ฉลาม 

ฉลาม

ที่ประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) อนุมัติแผนการคุ้มครอง ฉลาม เพิ่มเติม 54 ชนิด ซึ่งนับเป็นท่าทีที่อาจจะช่วยลดการค้าและล่าครีบฉลามที่โหดร้ายและทำกำไรมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากนี้การค้าฉลามในวงศ์ฉลามครีบดำและฉลามหัวค้อนจะได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดภายใต้อนุสัญญาไซเตส โดยมติดังกล่าวได้รับการเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์โดยที่ประชุม ในวันสุดท้ายของการประชุมที่ยาวนาน 2 สัปดาห์ และมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก 183 แห่งและสหภาพยุโรปเข้าร่วมการประชุม ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 2-3 ปี 

ข้อเสนอเกี่ยวกับฉลามหัวค้อนดังกล่าวผ่านการอนุมัติโดยปราศจากข้อโต้แย้ง ขณะที่ญี่ปุ่นไม่ประสบความสำเร็จในการพยายามนำฉลามสีน้ำเงินออกรายชื่อ ซึ่งการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์นี้จะส่งผลให้กว่า 90% ของฉลามที่อยู่ในท้องตลาดทั้งหมดในปัจจุบันได้รับสถานะอยู่ภายใต้คุ้มครอง 

ฉลาม 1

ความต้องการบริโภคครีบฉลามในเอเชียอันไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งปลายทางคือการกลายเป็นเมนูหูฉลามบนโต๊ะอาหารทั้งในฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนความนิยมในการค้าฉลาม แม้ว่าจะแทบไม่มีรสชาติและมีเนื้อสัมผัสลักษณะเป็นวุ้น แต่ซุปหูฉลามกลับถูกมองว่าเป็นอาหารจานเด็ดที่เลิศหรูและเป็นที่นิยมในหมู่คนมั่งมี มักเสิร์ฟในงานแต่งงานต่างๆ รวมถึงงานเลี้ยงรับรองที่หรูหราอื่นๆ โดยครีบฉลามซึ่งมีตลาดการค้ามูลค่ากว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ขายได้ราคากิโลกรัมละถึงประมาณ 1,000 เหรียญ 

Luke Warwick ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองฉลามขององค์กรเอกชนม Wildlife Conservation Society (WCS) กล่าวว่า “นี่จะเป็นวันที่ถูกจดจำว่าเราพลิกสถานการณ์มาเพื่อปกป้องไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ของ ฉลาม และกระเบนชนิดต่างๆ” 

ฉลามเหล่านี้จะได้รับการขึ้นบัญชีใน CITES Appendix II ซึ่งมีไว้สำหรับชนิดพันธุ์ที่อาจยังไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่อาจจะเสี่ยงสูญพันธุ์ได้หากไม่มีการควบคุมการค้าอย่างใกล้ชิด 

“ขั้นตอนต่อไปที่สำคัญคือการบังคับใช้บัญชีรายชื่อนี้และตรวจสอบให้แน่ใจว่าจะมีผลต่อการจัดการ การทำประมงและมาตรการการค้าที่เข้มงวดขึ้นโดยเร็วที่สุด” Warwick กล่าว

– จากผู้ร้ายสู่ที่รัก – 

เป็นเวลานานแล้วที่ฉลามถูกมองเป็นผู้ร้ายแห่งท้องทะเลที่พวกมันครอบครองมานานกว่า 400 ล้านปี กับภาพจำอันโหดร้ายที่ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ เช่นในเรื่อง Jaws และเหตุทำร้ายมนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว 

อย่างไรก็ดี นักล่าจากยุคโบราณเหล่านี้ได้ผ่านการปรับปรุงภาพลักษณ์ใหม่ในช่วงไม่นานมานี้ เมื่อนักอนุรักษ์เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของพวกมันในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ 

Joaquin de la Torre แห่งองค์กร Fund for Animal Welfare (IFAW) ระบุว่าแต่ละปีมีฉลามถูกสังหารมากกว่า 100 ล้านตัว “ฉลามและกระเบนเป็นชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามมากที่สุด มากเสียยิ่งกว่าช้างหรือเสือเสียอีก”  

ฉลามหลายชนิดต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี กว่าจะโตเต็มวัยพร้อมสืบพันธุ์ได้ และยังมีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำ การล่าฉลามอย่างต่อเนื่องจึงส่งผลให้จำนวนฉลามลดลง

ฉลาม 2

ในหลายพื้นที่ของโลก ชาวประมงเฉือนเอาครีบฉลามกลางทะเลและโยนพวกมันกลับลงน้ำไป จนนำไปสู่การตายอย่างทุกข์ทรมานจากการขาดอากาศหายใจหรือเสียเลือดมาก 

ความพยายามของบรรดานักอนุรักษ์นำมาซึ่งจุดเปลี่ยนในปี 2013 ที่ไซเตสเริ่มบังคับใช้ข้อจำกัดในการค้าฉลามบางประเภทเป็นครั้งแรก 

– การใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัดอย่างต่อเนื่อง –

ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอ 52 ฉบับเพื่อเปลี่ยนแปลงระดับการคุ้มครองสิ่งมีชีวิตมากกว่า 600 ชนิดพันธุ์ และยังได้อนุมัติการคุ้มครองปลาโรนิน หรือ ปลากระเบนท้องน้ำ รวมทั้งจระเข้ กบ และเต่าอีกหลายสายพันธุ์ 

“ข้อเสนอหลายฉบับที่ได้รับการรับรองสะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัดและการค้าที่ไม่ยั่งยืน รวมถึงการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อมโยงอันซับซ้อนของภัยคุกคามอื่นๆ ที่ทำให้จำนวนชนิดพันธุ์ต่างๆ ตามธรรมชาติลดน้อยลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย” Susan Liberman จาก WCS กล่าว

อนุสัญญาไซเตสที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อปี 1975 กำหนดกฎการค้าระหว่างประเทศครอบคลุมสิ่งมีชีวิตกว่า 36,000 ชนิด โดยมี 183 ประเทศและสหภาพยุโรปร่วมลงนามในอนุสัญญา

ที่มา – https://www.voanews.com/a/global-wildlife-summit-approves-shark-protections-/6850612.html

แชร์