เครื่องหมายอัศเจรีย์

ออสเตรเลีย สามารถช่วยสัตว์เลื้อยคลานหายาก โดยการย้ายไปยังที่เย็นกว่าได้หรือไม่?

การทดลองเพื่ออนุรักษ์เต่าบึงอัมบรินา (western swamp tortoise) กลายเป็นประเด็นร้อนแรงล่าสุดที่ถกเถียงกันว่ามนุษย์ควรทุ่มเทมากแค่ไหนเพื่อปกป้องธรรมชาติจากโลกที่ร้อนขึ้นนักวิจัยยืนอยู่ในบึงที่น้ำลึกระดับหัวเข่า ดึงเต่า 30 กว่าตัวออกจากกล่องกระดาษทีละตัว หย่อนพวกมันลงไปในน้ำ จากนั้นก็เฝ้าดูสัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติที่สุดของ ออสเตรเลีย ที่พุ่งตัวไปหาพื้นที่ชุ่มน้ำ นี่เป็นการทดลองอันบ้าบิ่นเพื่อดูการปรับตัวตามภูมิอากาศ

ออสเตรเลีย 1

โครงการนี้ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติในรัฐ Western Australia ประเทศ ออสเตรเลีย กลายเป็นประเด็นถกเถียงล่าสุดในวงการวิทยาศาสตร์ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป แหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติของเต่าบึงอัมบรินาเริ่มไม่เหมาะมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้นและปริมาณน้ำฝนลดลง นักอนุรักษ์จึงย้ายเต่าบางส่วนไปทางใต้ 200 ไมล์ ไปยังที่ที่เย็นกว่าที่พวกมันไม่เคยอาศัยอยู่มาก่อน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่านี่อาจเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เต่าอยู่รอดได้ในธรรมชาติ

เชื่อกันว่านี่เป็นครั้งแรกที่นักวิจัยพยายามย้ายสัตว์มีกระดูกสันหลังไปยังแหล่งที่อยู่ใหม่เนื่องจากภาวะโลกรวน การทำแบบนี้ถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ ซึ่งไม่ใช่แค่กับเต่าเท่านั้น การนำชนิดพันธุ์หนึ่งๆ เข้าสู่ภูมิทัศน์ใหม่อาจส่งผลที่คาดเดาไม่ได้และบางครั้งก็กลายเป็นหายนะ ระบบนิเวศนั้นมีความซับซ้อนมากจนการวิจัยจำนวนมากเท่าใดก็ไม่สามารถทำนายผลกระทบทั้งหมดได้ ชนิดพันธุ์ที่ดูเหมือนไม่มีอันตรายอาจกลายเป็นชนิดพันธุ์ที่รุกรานได้ในสภาพแวดล้อมใหม่ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่จะรู้ดีไปกว่าออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศที่มีการนำชนิดพันธุ์ยุโรปเข้ามา เช่น กระต่าย แมว และสุนัขจิ้งจอก และทำให้สัตว์ป่าพื้นเมืองล้มหายตายจาก

การทดลองของออสเตรเลียเป็นตัวอย่างของทางเลือกอันยากลำบากซึ่งโลกจะต้องเผชิญบ่อยขึ้นหากไม่สามารถควบคุมภาวะโลกร้อนได้ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นแซงหน้าความสามารถในการปรับตัว สิ่งมีชีวิตจำนวนมากขึ้นกำลังถูกผลักให้เข้าใกล้ภาวะสูญพันธุ์ การย้ายพวกมันไปยังภูมิประเทศที่เป็นมิตรกว่า หรือที่เรียกกันว่าการช่วยตั้งอาณานิคมหรือการช่วยย้ายถิ่น (assisted colonization/assisted migration) ถือเป็นหนึ่งในเทคนิคชุดใหม่ซึ่งอยู่สุดขอบของวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยรักษาสัตว์ใกล้สูญพันธุ์บางชนิดพันธุ์ แต่ความพยายามดังกล่าวได้จุดชนวนให้เกิดข้อถกเถียงว่ามนุษย์ควรจะควบคุมธรรมชาติอย่างไร หรือควรเข้าไปควบคุมหรือไม่ แม้จะเป็นการทำเพื่อปกป้องธรรมชาติก็ตาม

ออสเตรเลีย 2

สำหรับ Nicola Mitchell รองศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยาการอนุรักษ์แห่งมหาวิทยาลัย Western Australia และนักวิทยาศาสตร์หัวหน้าโครงการ คำถามหลักคือเราจะปล่อยให้ธรรมชาติดำเนินไปตามวิถีทางของมัน และ “ปล่อยให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ตายเพราะภาวะโลกรวนหรือไม่ นั่นคือจุดจบตามธรรมชาติใช่หรือไม่ หรือเรามีความรับผิดชอบเชิงจริยธรรมในการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์เหล่านี้หรือไม่”

เต่าบึงอัมบริน่าซึ่งคนเชื่อกันมานานว่าสูญพันธุ์ไปแล้วกลับมีโอกาสได้พบเห็นอีกครั้งราวปี 1950 และปัจจุบันมีจำนวนราว 800 ตัวในธรรมชาติ (เต่าที่ถูกย้ายถิ่นทั้งหมดถูกเพาะพันธุ์ในที่ปิด)

ในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ มีประชากรกลุ่มเดียวที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองซึ่งประกอบไปด้วยเต่าโตเต็มวัยประมาณ 70 ตัว ประชากรดังกล่าวอยู่แถบชานเมือง Perth และกำลังเผชิญภัยคุกคาม 2 ทาง นั่นคือการสูญเสียแหล่งที่อยู่จากการเติบโตของเมืองและจากภาวะโลกรวน ซึ่งได้ลดช่วงเวลาที่เย็นและเปียกชื้นที่เต่าต้องการเพื่อหาอาหารและขยายพันธุ์ ก่อนที่พวกมันจะจำศีลตลอดช่วงเดือนฤดูร้อน

เต่าที่ถูกเมืองล้อมรอบไม่สามารถอพยพไปยังแหล่งที่อยู่ใหม่ได้ด้วยตัวเอง และมันมีอายุถึง 100 ปี ดังนั้นวงจรชีวิตของมันจึงยาวเกินกว่าที่จะวิวัฒนาการตามธรรมชาติเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้

ศาสตราจารย์ Mitchell บอกว่าเธอเริ่มคิดถึงเรื่องการช่วยตั้งอาณานิคมเพื่อปกป้องชนิดพันธุ์นี้ในปี 2008 เมื่อมีการถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าวอย่างจริงจัง เนื่องจากผลกระทบจากภาวะโลกรวนเริ่มชัดเจนมากขึ้น ณ วันนี้ชุมชนวิทยาศาสตร์ดูเหมือนใกล้จะได้มติมหาชน เธอหวังว่าการทดลองเต่าจะช่วยกระทุ้งการอภิปรายให้คืบหน้าได้บ้าง

ออสเตรเลีย 3

พื้นที่ชุ่มน้ำในอุทยานแห่งชาติ Scott National Park ซึ่งเป็นที่ที่เต่าถูกปล่อยออกไปนั้นเย็นกว่าแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติของมัน แต่แบบจำลองของศาสตราจารย์ Mitchell คาดการณ์ว่าสภาพอากาศในนั้นน่าจะลงตัวในอีก 50 ปีถ้าอุณหภูมิยังสูงขึ้นเรื่อยๆ และนั่นจะเป็นแหล่งที่อยู่ที่ดีในระยะยาวของเต่าพวกนี้ เมื่อพิจารณาจากช่วงอายุขัยของพวกมัน

ในขณะเดียวกัน อุปกรณ์ติดตามที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการติดบนกระดองอย่างทุลักทุเลจะถูกนำมาใช้เพื่อติดตามอุณหภูมิและการเคลื่อนไหวของร่างกาย หากการทดลองเกิดปัญหาใดๆ “เราสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดของเราได้ด้วยการจับมันกลับมา” ศาสตราจารย์ Mitchell กล่าว

เต่าที่ถูกปล่อยออกมาในพื้นที่นี้เป็นรุ่นที่ 3  ส่วนสถานที่ปล่อยครั้งที่สองซึ่งอยู่โซนอื่นของรัฐ Western Australia ได้รับการทดสอบและยืนยันว่าไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าสภาพอากาศจะเหมาะสม แต่แหล่งอาหารกลับไม่เป็นเช่นนั้น

ข้อมูลที่เปิดเผยล่าสุดในเดือนสิงหาคมได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่มีลูกเต่าด้วย นักวิจัยต้องตามล่าหา กอต้นกกที่สมบูรณ์ตามระเบียบวิธี จากนั้นจึงค่อยปล่อยพวกมันซึ่งมีขนาดแค่ฝ่ามือ

ออสเตรเลีย 4

“ลงไปแล้ว” Nick Rodriguez นักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Western Australia กล่าวขณะที่เต่าตัวหนึ่งเริ่มว่ายน้ำ 

แต่หลังจากที่เห็นว่าเครื่องติดตามขนาดเท่าเล็บมือบนหลังของมันทำให้ตัวเอียงไปด้านข้าง นักวิทยาศาสตร์จึงใช้เวลาช่วงเย็นรวบรวมลูกเต่าทั้งหมดขึ้นมาและพากลับไปที่สวนสัตว์

แม้ว่าจะไม่สามารถคาดเดาผลกระทบของเต่าที่มีต่อสภาพแวดล้อมใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ แต่ทีมก็คาดว่าผลกระทบจะจำกัด เต่ากินอาหารได้จำกัดมากซึ่งได้แก่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกับลูกอ๊อด และขยายพันธุ์ได้ช้า ซึ่งหมายความว่าจำนวนประชากรของเต่าไม่น่าจะเพิ่มขึ้นแบบพุ่งพรวด

ถึงกระนั้น นักชีววิทยาบางคนที่ศึกษาชนิดพันธุ์ที่รุกรานได้เปรียบเทียบการช่วยตั้งอาณานิคมว่าเหมือนเกม “รูเล็ตเชิงนิเวศน์”

จากความยากลำบากในการพยากรณ์ผลกระทบจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่น นักนิเวศวิทยาจึงไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะสามารถ “หลีกเลี่ยงผลกระทบที่ร้ายแรงและแก้ไขไม่ได้” Anthony Ricciardi นักชีววิทยาด้านชนิดพันธุ์ที่รุกรานและผู้วิพากษ์วิจารณ์การช่วยตั้งอาณานิคมกล่าว

“แม้ว่าผลที่ตามมาจะไม่ใช่เรื่องปกติ แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการนำชนิดพันธุ์ใหม่เข้ามา” เขาเขียนไว้ในอีเมล

นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ กังวลว่าแนวทางดังกล่าวจะหันเหความสนใจจากการแก้ไขต้นตอของภัยคุกคาม ซึ่งก็คือภาวะโลกร้อน นอกจากนี้มันยังไม่น่าจะเป็นทางแก้ที่ขยายผลต่อได้ และนักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนว่าชนิดพันธุ์ใดควรค่าแก่การอนุรักษ์ 

Mark Schwartz นักวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์แห่งมหาวิทยาลัย California Davis กล่าวว่า “การย้ายสัตว์ให้มากพอเพื่อแก้เรื่องภัยคุกคามนี้ดูแล้วไม่น่าจะทำได้ต่อเนื่อง”

นักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการทดลองดังกล่าวยอมรับว่ากลยุทธ์นี้เป็นการเลือกผู้แพ้ผู้ชนะไม่มากก็น้อย พวกเขายังรับรู้ว่าบางคนอาจไม่เห็นว่านี่เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เงินสามารถถูกใช้ได้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ด้วยการเอาไปกำจัดชนิดพันธุ์ที่รุกราน

Gerald Kuchling นักวิทยาสัตว์เลื้อยคลานที่เกี่ยวข้องกับการทดลองนี้กล่าวว่า เขาไม่สบายใจเพราะมีความเป็นไปได้ที่มันจะดึงความสนใจไปจากสิ่งที่เขาเห็นว่าสำคัญกว่า นั่นคือการปกป้องแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวของเต่า

“ท้ายที่สุด ผมว่ามันเป็นการตั้งคำถามถึงจริยธรรมและศีลธรรมของคุณเอง” เขากล่าว

ถึงแม้ว่าศาสตราจารย์ Schwartz นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย California จะมีข้อกังขาบางประการเกี่ยวกับการช่วยตั้งอาณานิคม แต่เขาตั้งข้อสังเกตว่ามันเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีใหม่ในปัจจุบันที่รุกรานน้อยที่สุด รวมถึงการตัดต่อยีน เพื่อทำให้สัตว์สามารถทนต่อสภาพอากาศได้มากขึ้น

เขากล่าวว่าโครงการต่างๆ เช่น การช่วยย้ายถิ่นให้เต่าอาจช่วยทำให้มีข้อมูลมาคุยกันได้มากขึ้นในอนาคตว่าสังคมเต็มใจจะช่วยเหลือสัตว์ชนิดนี้มากน้อยเพียงใด 

ในกรณีของเต่าออสเตรเลีย ต้องใช้เวลาเกือบทศวรรษกว่าจะได้เริ่มทดลองหลังจากที่ ศาสตราจารย์ Mitchell ยื่นสมัครขอทุนสนับสนุนครั้งแรก ในท้ายที่สุด เธอบอกว่าการทดลองนี้อาจให้แนวทางแก่ผู้ที่จะทดลองในอนาคตได้

“ฉันว่าคุณต้องพยายาม เรียนรู้ และแบ่งปันสิ่งที่คุณกำลังเรียนรู้” เธอกล่าวและเสริมว่า “ฉันคิดว่ามันจะกลายเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง ถ้ามันสำเร็จนะ”

ที่มา https://www.nytimes.com/2022/12/12/world/australia/assisted-colonization-tortoise.html

แชร์