
กรณีการเสียชีวิตของเด็กในรัฐเนบราสกาช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ทำให้ชื่อของ Naegleria fowleri เชื้ออะมีบาชนิดนีเกลอเรีย หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในชื่อเชื้อ อะมีบา กินสมอง กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เชื้อ อะมีบา สายพันธุ์นี้อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดที่มีอุณหภูมิอุ่น และสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางจมูก ซึ่งจะเชื่อมต่อไปถึงสมอง และเชื้อจะเริ่มทำลายเนื้อเยื่อสมองได้
กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่าวิตก นั่นคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกกำลังทำให้เชื้อ อะมีบากินสมอง ชนิดนี้ปรากฏขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่ปกติไม่เคยพบ อย่างเช่นทางตอนเหนือและภาคตะวันตก

Charles Gerba นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย Arizona ระบุว่า อะมีบานีเกลอเรียเติบโตได้ดีที่สุดในน้ำอุ่นที่อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส และทนความร้อนได้สูงสุดถึง 46 องศาเซลเซียส ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้มันแพร่กระจายได้ดีในสภาวะอากาศที่อบอุ่นขึ้น “เชื้อนี้ชอบแหล่งน้ำที่อบอุ่นในฤดูร้อนในเขตซีกโลกเหนือ” เขากล่าว
อะมีบาชนิดนี้ก่อให้เกิดอาการป่วยที่เรียกว่าเยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบจากอะมีบาแบบปฐมภูมิ และแม้ว่าการล้มป่วยจากเชื้อนี้จะพบได้ยาก จากสถิติของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ระหว่างปี 2012-2021 ที่พบเพียง 31 กรณีในสหรัฐฯ แต่ก็มักรุนแรงถึงชีวิต โดยจากข้อมูลของ CDC ระหว่างช่วงปี 1962-2020 พบว่ามีผู้ป่วยเพียง 4 คนเท่านั้น จากทั้งหมด 151 คนที่ติดเชื้อนี้ที่รอดชีวิต
ในสหรัฐฯ โดยทั่วไปแล้วอะมีบานีเกลอเรียจะพบได้เฉพาะในรัฐทางตอนใต้ และหลายปีที่ผ่านมาพบการแพร่กระจายขึ้นเหนืออย่างต่อเนื่อง โดยการศึกษาเมื่อปี 2021 ชี้ว่าแม้ว่าอัตราการติดเชื้อจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่เชื้ออะมีบานี้เคลื่อนตัวจากรัฐต่างๆ ทางตอนใต้ไปยังแถบมิดเวสต์ และพบได้เหนือสุดกระทั่งในรัฐมินนิโซตา

กรณีการติดเชื้อมักพบว่าเกี่ยวข้องกับการว่ายน้ำในทะเลสาบต่างๆ แม้ว่าการแพร่ระบาดล่าสุดในรัฐแอริโซนาจะเกิดจากการใช้น้ำอุ่นที่มาจากใต้ดิน ซึ่งเป็นแหล่งที่มีเชื้ออะมีบานีเกลอเรียเติบโตอยู่ภายในบ่อน้ำก็ตาม กรณีการติดเชื้อครั้งก่อนๆ ยังแสดงให้เห็นว่าผู้ติดเชื้อได้รับเชื้อจากน้ำที่ปนเปื้อน ซึ่งถูกนำมาใช้กับชุดเครื่องเล่นสไลเดอร์และสระน้ำเป่าลมต่างๆ ภายในบริเวณบ้าน หรือจากการล้างจมูก
เชื้อโรคนี้ถูกพบในรัฐไอโอวาเป็นครั้งแรกช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา หลังจากมีผู้เสียชีวิตที่ทะเลสาบชื่อดังแห่งหนึ่ง สถานีอากาศที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงวัดอุณหภูมิได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึงประมาณ 35 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2 วัน ในช่วงวันหยุดวันชาติสหรัฐฯ 4 กรกฎาคม ซึ่งคาดว่าเป็นช่วงเวลาที่ผู้เสียชีวิตคนดังกล่าวติดเชื้ออะมีบาจากการว่ายน้ำ
Gerba ยังกล่าวเสริมว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่พบว่าเป็นเพศชาย อายุน้อยกว่า 18 ปี ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเป็นไปได้ว่า เด็กผู้ชายที่อายุยังน้อยอาจจะมีโอกาสไปเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเช่นการกระโดดน้ำหรือไปเล่นกับตะกอนก้นทะเลสาบและแม่น้ำมากกว่า ซึ่งเหล่านี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเชื้ออะมีบา
ต่อให้เชื้ออะมีบาจะไม่ทำให้ผู้ติดเชื้อถึงแก่ชีวิต แต่ก็สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงได้ มีกรณีที่คาดว่าเป็นการติดเชื้ออะมีบานีเกลอเรียครั้งหนึ่งในรัฐฟลอริดา ซึ่งวัยรุ่นคนหนึ่งเป็นไข้หลังจากไปว่ายน้ำในแหล่งน้ำกร่อย และต่อมาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ก่อนจะมีภาวะชัก
Yun Shen วิศวกรสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัย California Riverside ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นไม่เพียงแต่จะเอื้อต่อการมีชีวิตและเติบโตของเชื้ออย่างอะมีบานีเกลอเรีย แต่ยังทำให้คนต้องหันไปคลายร้อนในแหล่งน้ำมากขึ้นด้วย ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเช่นกัน

วิกฤตสภาพภูมิอากาศยังส่งผลให้สภาวะอากาศสุดขั้วรุนแรงขึ้น เช่น อุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้ปริมาณเชื้อโรคในสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น “ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง เชื้อโรคจะสุมอยู่ปริมาณมากตามแหล่งน้ำ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณเชื้อโรคที่มนุษย์ได้รับเมื่อสัมผัสกับแหล่งน้ำเหล่านี้” Shen กล่าว ส่วนในพื้นที่ประสบอุทกภัย น้ำอาจนำพาเชื้อโรคจากดินหรือแหล่งน้ำอื่นๆ ไปยังบ้านเรือนและอาคารต่างๆ หรือส่งผลให้แหล่งกักเก็บน้ำเสียเอ่อล้น และทำให้เชื้อโรคแพร่กระจาย ปนเปื้อนไปในสิ่งแวดล้อมได้
“ในอนาคต เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้คนที่อาศัยในเขตหนาวอาจจะต้องเจออากาศที่อุ่นขึ้น และมีโอกาสสูงขึ้นที่จะต้องเจอกับเชื้อโรคต่างๆ” Shen กล่าวเสริม
CDC ระบุว่าการทำความเข้าใจเรื่องแหล่งที่อยู่อาศัยของเชื้อโรคนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะยังไม่มีชุดตรวจแบบเร่งด่วนที่จะระบุได้ว่าพบเชื้อได้ที่ไหนหรือมากน้อยเพียงใดในแหล่งน้ำต่างๆ และที่น่าหงุดหงิดไปกว่านั้น ปัจจุบันยังคงไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าทำไมบางคนจึงล้มป่วยเพราะอะมีบา ขณะที่บางคนไม่มีอาการใดๆ เพราะถึงอย่างไรแต่ละปีก็มีคนลงไปเล่นน้ำในแหล่งน้ำจืดที่อุณหภูมิอุ่นเป็นร้อยล้านคน แต่มีเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ติดเชื้อ ทำให้การตั้งเกณฑ์เพื่อพิจารณาและทำความเข้าใจปัจจัยต่างๆ เป็นเรื่องที่ท้าทาย
ระหว่างที่ผู้เชี่ยวชาญเฝ้าติดตามสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ Gerba ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงเล่นน้ำในแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติเอาไว้ด้วย โดยแนะให้หลีกเลี่ยงการดำน้ำลงไปทั้งศีรษะ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าจมูก กับอีกทางเลือกหนึ่งคือการใช้อุปกรณ์หนีบจมูก โดยเฉพาะสำหรับเด็กเล็ก นอกจากนี้ดินและโคลนในบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งน้ำจืดเหล่านี้ยังอาจมีเชื้อปนเปื้อนได้ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงแนะให้เลี่ยงการขุดหรือกิจกรรมใดๆ ที่รบกวนหน้าดินเหล่านี้
Gerba ยังทิ้งท้ายด้วยว่า “เมื่ออุณหภูมิตามแหล่งน้ำเพิ่มสูงขึ้น และขยับไกลขึ้นไปทางเหนือเรื่อยๆ เราจึงคิดว่าจะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นด้วยในอนาคต และคาดว่าแนวโน้มจะเป็นแบบนี้ต่อไป”