เครื่องหมายอัศเจรีย์

อุปกรณ์ในอวกาศของ NASA ตรวจพบแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนขนาดใหญ่บนโลก

NASA

อุปกรณ์ของนาซา(NASA)ที่อยู่ในวงโคจรรอบโลกและออกแบบมาเพื่อการศึกษาฝุ่นละอองในอากาศรวมถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกตรวจพบแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนขนาดใหญ่ โดยอุปกรณ์ EMIT สามารถระบุพิกัดแหล่งปล่อยมีเทนขนาดใหญ่ได้ถึง 50 แห่งภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน แม้ว่างานนี้จะไม่ใช่ภารกิจหลักของมันก็ตาม 

NASA 1

ตาวิเศษที่ทรงพลังและกำลังทำหน้าที่อยู่บนท้องฟ้านี้ได้กลายเป็นตัวช่วยสำคัญของบรรดานักวิทยาศาสตร์ในการสอดส่องแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนขนาดใหญ่ ซึ่งก๊าซเรือนกระจกชนิดนี้กักเก็บความร้อนได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า

อุปกรณ์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ(NASA) ที่ว่านี้คืออุปกรณ์ตรวจสอบแหล่งที่มาของฝุ่นแร่ธาตุบนพื้นผิวโลก (Earth Surface Mineral Dust Source Investigation – EMIT) ซึ่งทำหน้าที่เก็บข้อมูลองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นตามพื้นที่แถบทะเลทรายต่างๆ ทั่วโลก เรื่อยมาตั้งแต่ที่ได้รับการติดตั้งอยู่ที่ด้านนอกของสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อช่วยให้นักวิจัยได้ศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของฝุ่นละอองในอากาศต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งถือเป็นจุดประสงค์หลักของเครื่อง EMIT นี้

แต่ตอนนี้อุปกรณ์ดังกล่าวกำลังทำงานในอีกหน้าที่หนึ่งซึ่งไม่ได้มีใครคาดคิดว่าจะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเจ้าหน้าที่ของNASA เปิดเผยว่าอุปกรณ์นี้สามารถระบุตำแหน่งของกลุ่มก๊าซมีเทนขนาดใหญ่ที่มีคุณสมบัติกักเก็บความร้อนได้ ตามจุดต่างๆ ทั่วโลกถึงมากกว่า 50 จุดแล้ว

“การจัดการกับการปล่อยก๊าซมีเทนคือหัวใจของการลดภาวะโลกร้อน ความก้าวหน้าครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้นักวิจัยระบุพิกัดจุดที่มีเทนรั่วไหล แต่ยังเปิดโอกาสให้หาคำตอบได้ว่าจะแก้ไขปัญหานี้ให้ทันท่วงทีได้อย่างไร” Bill Nelson ผู้อำนวยการNASA ระบุในแถลงการณ์ 

“สถานีอวกาศนานาชาติ รวมถึงอุปกรณ์และดาวเทียมมากกว่า 24 ดวงของNASA เป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสภาพภูมิอากาศของโลกมาโดยตลอด ซึ่ง EMIT ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และหยุดยั้งการปล่อยก๊าซนี้ที่แหล่งกำเนิดตั้งแต่ต้น” Nelson กล่าว

EMIT ได้รับการออกแบบมาให้สามารถระบุเอกลักษณ์ขององค์ประกอบทางเคมีของธาตุต่างๆ บนพื้นโลกได้ และการที่อุปกรณ์นี้สามารถตรวจจับมีเทนได้ด้วยถือเป็นเรื่องบังเอิญที่น่ายินดี โดยนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการเครื่องยนต์ไอพ่นของNASA (Jet Propulsion Laboratory – JPL) อธิบายว่าก๊าซมีเทนดูดซับรังสีอินฟราเรดในรูปแบบเฉพาะตัวที่ทำให้อุปกรณ์ EMIT สามารถตรวจจับได้ ซึ่งการโคจรรอบโลกไปพร้อมกับสถานีอวกาศนานาชาติทุกๆ 90 นาที ที่ระดับความสูงประมาณ 420 กิโลเมตร ทำให้เครื่องสามารถกวาดดูพื้นที่ต่างๆ ได้ทั่วโลกและเจาะลึกลงไปในบางจุดที่มีขนาดเล็กแค่เพียงสนามฟุตบอลได้ 

จากการตรวจสอบโดย EMIT พบกลุ่มก๊าซมีเทนหรือที่รู้จักในชื่อก๊าซธรรมชาติขนาดความยาวประมาณ 4.8 กิโลเมตรบนท้องฟ้าเหนือบ่อขยะในประเทศอิหร่าน ซึ่งแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกขนาดใหญ่แห่งใหม่นี้ส่งก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกถึงประมาณชั่วโมงละ 8,500 กิโลกรัม ที่แม้จะฟังดูมหาศาล แต่ยังน้อยเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับปริมาณก๊าซจากแหล่งอื่นๆ อีก 12 จุดในประเทศเติร์กเมนิสถาน ซึ่งกลุ่มก๊าซบางกลุ่มมีความยาวสูงสุดถึง 32 กิโลเมตร และทั้งหมดเชื่อมโยงกับสิ่งก่อสร้างเชิงอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ซึ่งทั้งหมดนี้ปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลกถึงชั่วโมงละ 50,400 กิโลกรัม

NASA 2

ส่วนแหล่งปล่อยก๊าซขนาดใหญ่อื่นๆ ที่พบ มีทั้งที่บ่อน้ำมันในรัฐ New Mexico และศูนย์จัดการขยะในอิหร่าน ที่ปล่อยก๊าซมีเทนรวมกันถึงชั่วโมงละ 29,000 กิโลกรัม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต่างไม่เคยรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับต้นตอของก๊าซมีเทนเหล่านี้มาก่อนเลย  

อุปกรณ์ EMIT ตรวจพบแหล่งปล่อยก๊าซขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ช่วงการทดสอบการทำงานของอุปกรณ์ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่การใช้งานจริงอย่างเต็มประสิทธิภาพน่าจะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของบรรดานักวิทยาศาสตร์ ซึ่งNASA คาดว่าภายในระยะเวลาภารกิจ 1 ปีเต็ม EMIT น่าจะตรวจพบแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนขนาดใหญ่ได้หลายร้อยแห่งทั่วโลก 

ที่มา https://www.reuters.com/lifestyle/science/nasa-instrument-detects-dozens-methane-super-emitters-space-2022-10-26/

https://www.space.com/emit-instrument-international-space-station-methane-super-emitters)

แชร์