
ปัจจุบัน เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 3,163 ล้าน/ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 130 เท่ากับว่าเกินเกณฑ์ความจุมา 30% ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เมื่อวานนี้ (10 ต.ค. 65) เขื่อนฯ ปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็น 52 ล้าน ลบ.ม./วัน ส่งผลให้ชุมชนริมน้ำชีใน จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด และ จ.ยโสธร ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 10 -15 ซม./วัน จากเดิมจะขึ้นวันละ 5 ซม./วัน ในช่วงก่อนที่จะมีการปรับการระบายน้ำ โดยเส้นทางน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จะระบายมาที่ลำน้ำพอง ไปยัง จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร และ จ.อุบลราชธานี ก่อนไปสมทบกับแม่น้ำมูลที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้แทนเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน เปิดเผยกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ถึงความกังวลว่า การระบายน้ำเพิ่มของเขื่อนฯ จะส่งผลกระทบกับ 8 อำเภอ จังหวัดร้อยเอ็ด (อ.จังหาร,อ.เชียงขวัญ,อ.โพธิ์ชัย,อ.ธวัชบุรี,อ.เสลภูมิ,อ.ทุ่งเขาหลวง,อ.อาจสามารถ,อ.พนมไพร) และ 4 อำเภอ จังหวัดยโสธร (อ.เมือง,อ.คำเขื่อนแก้ว,อ.มหาชนะชัย,อ.หอวัง) และ อ.เขื่องใน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ราบต่ำและเป็นปลายทางลุ่มน้ำชี การเดินทางของน้ำไปสู่แม่น้ำมูลจึงต้องใช้เวลานานกว่าจุดอื่น ประกอบกับจุดนี้ยังมีน้ำต้นทุนที่ยังคงค้างเพราะยังไม่สามารถระบายไปแม่น้ำมูลที่ระดับน้ำยังสูงอยู่ ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำชีจึงป้องกันตัวเองด้วยการทำเขื่อนป้องกันชั่วคราวกันพื้นที่ไม่ให้น้ำทะลักเข้ามา ชาวบ้านวิตกว่าหากเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มการระบายน้ำขึ้นอีกก็จะส่งผลให้มวลน้ำชียกตัวสูงขึ้น แต่หากมีจุดใดที่เขื่อนป้องกันชำรุด หรือเป็นจุดฟันหลอ ก็จะทำให้น้ำชีไหลทะลักเข้าท่วมเป็นพื้นที่บริเวณกว้างขึ้น

นายสิริศักดิ์ กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ริมน้ำชี ได้เตรียมอพยพสิ่งของขึ้นที่สูง และขนย้ายไปไว้ในที่ปลอดภัย เพราะคาดว่าหากเขื่อนฯ มีการปล่อยน้ำเพิ่ม ก็จะส่งผลกระทบหนัก โดยยอมรับว่าหากสถานการณ์ไม่ได้แย่ไปกว่านี้ก็ยังสามารถที่รับมือได้