สำหรับคอกาแฟ พิกัดเช็กอินที่ไม่ควรพลาด คือ ตำบลวาวี อำเภอ แม่สรวย จังหวัดเชียงราย
แต่ในแวดวงวิชาการ และหน่วยงานที่ติดตามปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ ระบุตรงกันว่า ที่นี่พบ “จุดความร้อน” (Hotspot) ที่เกิดจากการเผาสูงสุดในอำเภอแม่สรวย
ข้อมูลของสํานักงานพัฒนา เทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่บันทึกไว้ในช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 พฤษภาคม ของทุกปี พบว่า ปี 2562 เฉพาะตำบลวาวี พบจุดความร้อน มากถึง 696 จุด หากรวมตัวเลขอีก 6 ตำบล คือ ตำบลป่าแดด ท่าก๊อ ศรีถ้อย แม่สรวย เจดีย์หลวง และแม่พริก เข้าไปด้วย จะมีจุดความร้อนรวมกัน 2,350 จุด สูงติดอันดับต้นๆ ของภาคเหนือในปีนั้น
การลดจุดความร้อน เป็น 1 ใน 3 ตัวชี้วัดหลัก ตาม แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ“การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” หรือที่เรียกติดปากว่า “แผนฝุ่นชาติ” ปี 2562
ที่ผ่านมา อำเภอแม่สรวย ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ในการแก้ปัญหา และทำให้ “จุดความร้อน” จากที่เคยสูงสุด 2,350จุด เมื่อปี 2562 ลดลงเรื่อยๆ จนเหลือ 380 จุดในปีที่ผ่านมา

แต่มีโจทย์ต้องคิดต่อว่า จะทำอย่างไร จุดความร้อนเกิดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือ ถ้าจะเกิดขึ้นก็ควรเป็น “การชิงเผา” เป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่เป็นระบบ ทั้งก่อนและหลังประกาศ 60 วันห้ามเผาของจังหวัดเชียงราย (15กุมภาพันธ์-15 เมษายน)
นี่คือ ที่มาที่ของความร่วมมือ ระหว่าง อำเภอแม่สรวย กับ ภาคีภาครัฐ และวิชาการ ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อวันที่ 7-8 ถุมภาพันธ์ 2566 ที่เปิดโอกาสใหัตัวแทนชุมชน ผู้นำท้องที่และท้องถิ่น ได้เรียนรู้การทำงานของแอปพลิเคชัน “Burn Check” -เช็กก่อนเผา- และลองระบุพิกัดที่ตนต้องการชิงเผา
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในการผลักดันให้มีการใช้ Burn Check ในสนามจริง

“แม่สรวย” พิกัดแรกของไทย
ตั้งแต่ ปลายปี 2563 ครม.มีมติกำหนดให้การบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยใช้แอปพลิเคชันลงทะเบียน เป็น 1 ใน 12 มาตรการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง
จากนั้น ก็มีนโยบายให้บูรณาการการทำงาน ระหว่าง กรมควบคุมมลพิษ กับ สํานักงานพัฒนา เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)หรือ GISTDA ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน “Burn Check” จากการต่อยอดงานวิจัยของ ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล และคณะวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย
แอปฯ ตัวนี้ได้รับการพัฒนาจนมีความพร้อมของเทคโนโลยีอยู่ในระดับที่ 7 ซึ่งถือได้ว่า ใกล้เคียงกับระบบที่จะใช้งานจริงในสนามได้แล้ว ที่ผ่านมา มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการผลักดันให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ และใช้งานจริงในพื้นที่ แต่ก็ไม่สำเร็จ

แหล่งข่าวที่ทำงานด้านนี้ ระบุว่า มาตรการในการใช้ Burn Check เดินได้ช้า ปัญหาไม่ได้มาจากตัวเทคโนโลยีเพราะเชื่อว่า ประชาชนสามารถเข้าถึง และใช้งานไม่ยาก
แต่น่าจะมาจากความกังวลของหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการในการพิจารณาระดับจังหวัดต่อแนวทางปฏิบัติ และอำนาจหน้าที่ เช่น พื้นที่ที่ประชาชนจะขอชิงเผาอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือ ป่าอนุรักษ์ แม้พื้นที่นั้นจะมีเงื่อนไขยกเว้นให้ทำกินได้ ขณะที่ กติกาในการพิจารณาของ Burn Check ก็มีอยู่ แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบ เกรงว่า ถ้าอนุมัติอนุญาตไปจะมีความผิดภายหลัง หรือไม่
มติในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการ เมื่อว้นที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สรวย จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์
ที่นี่ เสนอตัวเป็น “พื้นที่นำร่อง” ในการใช้ระบบ Burn Check -เช็กก่อนเผา- พร้อมไปกับขอให้ อำเภอแม่สรวย มีอำนาจในการแต่งตั้ง “คณะกรรมการ” ระดับอำเภอ เพื่อพิจารณาคำขอชิงเผาของประชาชนในพื้นที่นำร่องได้

นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอแม่สรวย ระบุว่า ทางอำเภอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิบัติ และข้อตกลงในการบริหารจัดการ เช่น จะต้องทำแนวกันไฟ ควบคุมไฟไม่ให้ลุกไหม้ในพื้นที่ใกล้เคียง หากลุกลามถือว่า ผิดเงื่อนไขและมีความผิด โดยจะแบ่งการทำงานเป็น 2 ช่วง
ช่วงแรก ก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่จังหวัดเชียงรายมีประกาศห้ามเผา 60 วัน จะดำเนินการในพื้นที่ 22 หมู่บ้านของ ต.ป่าแดด และช่วงสอง หลังวันที่ 15 เมษายน 2566 ที่สิ้นสุดคำประกาศห้ามเผา จะดำเนินการทุกตำบลในอำเภอแม่สรวย

“ป่าแดด” วันดีเดย์
10 โมงเช้า 10 กุมภาพันธ์ 2566 ชาวบ้านจาก 22 หมู่บ้านที่สนใจจะขอชิงเผาใน ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เดินทางไปที่ อบต.ป่าแดด เพื่อลงทะเบียนเข้าระบบ “Burn Check” โดยจะมีการพิจารณาอนุมัติอนุญาตให้ชิงเผา 2 วัน คือ วันที่ 10 และ 12 กุมภาพันธ์ 2566
ผู้นำชุมชนหลายคน ยอมรับว่า ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้ชิงเผาเศษวัสดุทางการเกษตรไปก่อนหน้านี้แล้ว เพราะอีกไม่กี่วันจะถึงกำหนดประกาศห้ามเผา 60 วัน แต่มีอีกหลายคนยังไม่ได้ทำ
การที่ ต.ป่าแดด ได้รับโอกาสเป็น “ตำบลนำร่อง” แห่งแรกในอำเภอ และแห่งแรกในประเทศไทย ก็น่าจะเป็นผลดีต่อชาวบ้านในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง และแก้ปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ได้
ตัวแทนของคณะกรรมการฯ ระบุว่า หลังจาก การชิงเผา 2 วันใน ต.ป่าแดด แล้วเสร็จ จะมีการจัดเวทีถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาระบบและแนวทางในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่าน แอปพลิเคชัน “Burn Check” ในพื้นที่จริง

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
โหลดแอปฯ Burn Check
“Burn Check” เป็น 1 ใน แอปพลิเคชัน ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ โดยผู้ใช้งานสามารถส่งคำขอการเผา โดยการส่งข้อมูลพิกัด พื้นที่เผา ขนาดพื้นที่ในการเผา จุดประสงค์ในการเผา รูปภาพการเผา
สำหรับผู้ใช้งานใหม่ให้โหลดแอปพลิเคชัน ชื่อ Burn Check และลงทะเบียนด้วยอีเมล์หรือรหัสประจำตัวประชาชน พร้อมใส่รหัสผ่านที่กำหนดไว้ในขั้นตอนการลงทะเบียน และกดเข้าสู่ระบบ จากนั้น ให้สร้างรายการคำขอ เพื่อกำหนดพื้นที่ที่ต้องการจะเผา หรือ ตำแหน่งจัดการเชื้อเพลิง เมื่อระบุตำแหน่งแล้วเสร็จให้กดยืนยัน
หากพื้นที่ที่ระบุตำแหน่ง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือป่าอนุรักษ์ แม้จะได้รับการยกเว้นให้ทำกิน แต่มีระยะห่างจากแนวป่า น้อยกว่า 200 เมตร ระบบจะขึ้นแจ้งเตือน ถ้าผู้ใช้ยืนยันที่จะขอชิงเผา ระบบจะส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ หรือ กรมอุทยานฯ ร่วมพิจารณา
จากนั้น ให้ผู้ขออนุญาต ระบุวันที่ต้องการจะเผา เพื่อส่งข้อมูลต่อไปให้คณะกรรมการจังหวัด เป็นผู้อนุมัติตามลำดับ ซึ่งกระบวนการจัดลำดับจะใช้ดุลยพินิจ ที่ยึดเอาจากการจำกัดจำนวนให้เผาได้หมู่บ้านละ 30 ไร่ต่อวันเท่านั้น และการขอจะต้องดำเนินการก่อนวันที่ขออนุญาตอย่างน้อย 3 – 5 วัน พร้อมทำแนวกันไฟ
ระหว่างดำเนินการ ผู้ยื่นคำร้องจะต้องถ่ายภาพ ก่อนการเผา และเมื่อเผาเสร็จเข้าระบบ เพื่อยืนยันว่า สามารถควบคุมไฟไม่ให้ลุกลามได้
