
“เทคโนโลยีอวกาศ” คำนี้อาจดูไกลตัว และไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน แต่ทุกวันนี้เรากำลังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเรื่องอุตุนิยมวิทยา ภูมิสารสนเทศ หรือ “ดาวเทียม” รวมไปถึงเรื่อง ภัยพิบัติ ที่เราเผชิญกับเหตุการณ์มากขึ้น และถี่ขึ้น

เมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือ ภัยธรรมชาติ ในอดีตอาจมีไม่กี่หน่วยงานของไทย ที่ประชาชนนึกถึง โดยเฉพาะเรื่องดินฟ้าอากาศ หน่วยงานหลัก ๆ ที่รู้จัก คงหนีไม่พ้น กรมอุตุนิยมวิทยา ที่มีหน้าที่โดยตรงในการแจ้งเตือน และวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งต่อข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ให้เตรียมตัวรับมือกับภัยธรรมชาติ แต่ในระยะหลังนี้ เริ่มมีการนำเทคโนโลยี อย่างภาพถ่ายดาวเทียม ซี่งถือเป็นเทคโนโลยีอวกาศ มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล กรณีเกิดภัยธรรมชาติ โดยหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ ในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ คือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยี อวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (Geo-Informatics and Space Technology Development Agency) หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า จิสด้า (GISTDA)

ภาพถ่ายดาวเทียม มีส่วนช่วยด้านภัยพิบัติอย่างไร?
ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ GISTDA ให้ข้อมูลกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติว่า ภาพถ่ายดาวเทียม คือภาพที่สามารถเก็บรายละเอียดข้อมูลพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติ ยกตัวอย่างเช่น น้ำท่วม ได้ในภาพกว้าง ซึ่งข้อมูลภาพเหล่านี้จะแสดงให้เห็นปริมาณน้ำที่ท่วมขังตามจุดต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม ทั้งบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตร ถือว่ามีส่วนสำคัญในการนำไปประเมินพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย เพื่อนำไปใช้ในการช่วยเหลือ อพยพ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ ภาพถ่ายดาวเทียม ยังมีการบันทึกเป็นช่วงเวลาสามารถย้อนหลังได้หลายสิบปี ในกรณีที่นำข้อมูลมาเปรียบเทียบในช่วงระยะเวลาไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่จะสามารถคาดการณ์หรือวิเคราะห์สถานการณ์เส้นทางการไหลของน้ำได้ว่ามีทิศทางเคลื่อนตัวไปยังจุดไหน พื้นที่ใดจะได้รับผลกระทบต่อไป มวลน้ำใช้ระยะเวลาเดินทางเท่าไหร่ หรือระดับความรุนแรงของสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้นหรือแย่ลง

และหากนำข้อมูลมาเปรียบเทียบในช่วงระยะเวลาย้อนหลังแบบรายปี ก็จะทำให้สามารถเห็นภาพได้ชัดเจนว่า ระดับความรุนแรงของสถานการณ์ในแต่ละปีเป็นอย่างไร ซึ่งไม่เพียงแต่เหตุการณ์น้ำท่วมเท่านั้น แต่ยังมีภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบพื้นที่ธารน้ำแข็งในแต่ละปี ที่มีแนวโน้มละลายเร็วขึ้น หรือ จำนวนทุ่งหญ้าที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ค่อย ๆ ลดลง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญต่อนักวิชาการ และ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงภาวะโลกรวน(Climate Change) เพราะสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และระดับความรุนแรงของภาวะโลกร้อนได้
และไม่เฉพาะแค่เพียงภัยธรรมชาติเท่านั้น แต่ภาพถ่ายดาวเทียม ยังเกี่ยวข้องกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ด้วย

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เกิดภัยพิบัติน้ำมันรั่วกลางทะเลระยอง ซึ่งระหว่างเกิดเหตุ ค่อนข้างมีความสับสนในประเด็นของปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล และทิศทางการเคลื่อนตัวรวมถึงจุดที่จะได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน
ภาพถ่ายดาวเทียม มีส่วนช่วยอย่างยิ่งในกรณีนี้ เพราะสามารถบันทึกภาพบริเวณที่เกิดเหตุ รวมถึงการกระจายของคราบน้ำมันได้ และนั่นเป็นข้อมูลที่ทำให้นักวิชาการสามารถวิเคราะห์ปริมาณน้ำมันได้อย่างแม่นยำ ผ่านการคำนวนโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าว นอกจากนี้ยังทำให้ทราบแนวทางการเคลื่อนตัวของกลุ่มคราบน้ำมัน รวมถึงบริเวณที่จะได้รับผลกระทบด้วย
นอกจากนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมยังสามารถบันทึกภาพ และตรวจจับจุดความร้อน (Hotspot) ได้เมื่อเกิดภัยพิบัติไฟป่าช่วยให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สามารถการกระจายตัวของจุดไฟ และควบคุมบริเวณที่เกิดไฟป่าให้อยู่ในวงจำกัด ถือเป็นการลดการเกิดฝุ่น PM2.5ได้ในทางอ้อม
ข้อดี VS ข้อเสียของภาพถ่ายดาวเทียม
ข้อดีของภาพถ่ายดาวเทียมคือเป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่สามารถที่จะดัดแปลงได้ สามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการแก้ปัญหาภัยพิบัติได้หลายมิติ
ข้อเสียคือไม่สามารถบันทึกภาพที่ต้องการได้หากตรงบริเวณที่ต้องการบันทึกภาพถ่ายดาวเทียมมีเมฆปกคลุมมาก เพราะเทคโนโลยี อวกาศ นั้นอยู่นอกโลก กล้องไม่สามารถยิงภาพผ่านชั้นบรรยากาศที่มีกลุ่มเมฆปริมาณหนาแน่นเข้ามาได้ นอกจากนี้บางข้อมูลยังเป็นข้อมูลเฉพาะที่ต้องอาศัยนักวิชาการเรียบเรียงและแปลงมาเป็นรูปแบบที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจได้ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการเผยแพร่

โดยสรุปแล้ว ภาพถ่ายดาวเทียม คือข้อเท็จจริงที่ถูกบันทึกเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ ทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถวิเคราะห์แนวทางบริหารจัดการเพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้รุนแรงได้ ที่สำคัญคือสามารถนำมาใช้ในการเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยงของภัยพิบัติ และอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของประชาชน