
ภาพจาก Google map สะพานกลับรถบริเวณใกล้กับโรงพยาบาลวิภารามขาเข้ากรุงเทพฯ กม.ที่ 34 ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ได้ตรวจสอบ เป็นภาพที่ถูกถ่ายไว้ประมาณ 6 เดือนแล้ว ซึ่งดูจากลักษณะของสะพานซึ่งเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุคานปูนหล่นทับรถยนต์ 3 คัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน เมื่อคืนที่ผ่านมา (31 ก.ค.65) จากการสังเกตพบว่าสะพานกลับรถมีลักษณะคล้ายชำรุด เนื่องจากระยะห่างของข้อต่อสะพานดูกว้างกว่าปกติ ทำให้ประชาชนที่ได้เห็นภาพดังกล่าว เกิดคำถามว่า “สะพานกลับรถแห่งนี้อยู่ในสภาพชำรุดก่อนเกิดเหตุมานานแค่ไหน”

ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ พูดคุยถึงประเด็นนี้กับ รศ.สมิตร ส่งพิริยะกิจ ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ระบุว่า จากภาพไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดการชำรุดแต่อย่างใด ส่วนช่วงรอยต่อที่มีลักษณะกว้างกว่าปกตินั้น เป็นลักษณะที่ไม่ได้มีอันตรายต่อโครงสร้างแต่อย่างใด โดยปกติหน่วยงานที่รับผิดชอบ จะต้องดำเนินการตรวจสอบสภาพความแข็งแรงโดยแบ่งเป็น การตรวจสอบปกติ คือควรทำทุก 1 ปี และ การตรวจสอบใหญ่ ควรทำทุก 10 ปี เพื่อบำรุงรักษาป้องกันไม่ให้โครงสร้างชำรุดเสียหาย ซึ่งจุดที่จะทำการตรวจสอบหลัก ๆ คือ รอยร้าวของโครงสร้าง, รอยร้าวของคาน, ความเรียบของผิวถนนบนสะพาน, สภาพรอยต่อระหว่างสะพาน และความเสื่อมของยางรองคอสะพาน โดยเฉพาะยางรองคอสะพาน ซึ่งทำหน้าที่ยึดโยงและลดแรงกระแทกระหว่างคอนกรีต

เบื้องต้นทราบว่าโครงสร้างของสะพานที่เกิดเหตุมีการก่อสร้างมานนานกว่า 30 ปี และก่อนเกิดเหตุมีการซ่อมแซมใหญ่ จากการสันนิษฐานคาดว่าทางทีมวิศวกรน่าจะมีการประเมินว่าการซ่อมแซมดังกล่าวอาจจะไม่กระทบกับการสัญจรของประชาชนจึงไม่ได้มีการกั้น หรือปิดพื้นที่ ซึ่งเหตุการณ์นี้นับเป็นบทเรียนสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและตรวจสอบโครงสร้างตามวงรอบที่กำหนดไว้ และต้องมีการซ่อมแซมอย่างระมัดระวัง คำนึงถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจร
