เครื่องหมายอัศเจรีย์

เฝ้าระวังพายุ “โนรู” กระทบอีสานตอนล่าง – เหนือตอนล่าง – กลาง – กทม. และปริมณฑล

ภาพถ่ายด้านบนจุดศูนย์กลางพายุ

นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายแนวการเคลื่อนตัว ของพายุ โนรู ซึ่งจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ในวันที่ 28 ก.ย.65 ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน เข้าสู่ไทยในวันที่ 29 ก.ย. นี้  จะส่งผลให้ประเทศไทย 

โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเกิดฝนตกหนัก ก่อนที่ปริมาณฝนจะกระจายไปยังพื้นที่ภาคกลาง รวมถึงภาคเหนือตอนล่างตามลำดับ และอาจจะสลายตัวไปเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ภายในวันที่ 30 ก.ย. 65 จากข้อมูลดังกล่าว มีแนวโน้มว่า จะส่งผลให้ผู้ที่อาศัยริมแม่น้ำมูล ชี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในภาคกลาง

ยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นเพราะเดิมที แม่น้ำชี, แม่น้ำมูล รวมถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีปริมาณน้ำมากอยู่แล้วประกอบกับพื้นดินอุ้มน้ำไว้เต็มที่ และแม้ว่าพายุจะสลายตัวไปในวันที่ 30 ก.ย. 65 ประเทศไทยก็จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องไปอีกจนถึงวันที่ 3-4 ตุลาคม 

ขณะที่ นายสมควร ยังระบุว่า พายุ โนรู จะสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศกำลังแรงเข้าสู่ภาคกลาง ซึ่งปริมาณฝนก็อาจจะน้อยลง แต่จุดที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือพื้นที่กทม.และปริมณฑล สอดคล้องกับนักวิชาการด้านน้ำที่ระบุว่า เขตลาดกระบัง หรือโซนตะวันออกของกทม.คือจุดที่ก่อนหน้านี้เคยประสบปัญหาน้ำท่วม ด้วยสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ

ทำให้น้ำไม่สามารถระบายออกสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว และหากมีการระบายน้ำจากทางเหนือผันมายังฝั่งนี้ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ ทำให้ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่จากหลายฝ่ายต้องระดมกำลัง เร่งพร่องน้ำที่ขังอยู่ออกจากพื้นที่เพื่อเตรียมรับมือมวลน้ำและฝนที่อาจจะตกเพิ่มเติม เบื้องต้นมีการติดตั้งเรือผลักดันน้ำ บริเวณคอขวดของสะพาน ทั้งหมด 4 จุด คือที่คลองลาดกระบัง 4 ลำ คลองหัวตะเข้ 6 ลำ คลองทับยาว 4 ลำ และ คลองพระยาเพชร 4 ลำ ซึ่งทั้งหมดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ผ่านความเร็วกระแสน้ำที่เพิ่มขึ่น 1 ใน 4 เท่า 

สมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา

นอกเหนือจากการเร่งพร่องน้ำที่ขังอยู่ในกทม. แล้ว ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังมีการระบายน้ำในเขื่อนป่าสักฯ และ น้ำจากทางตอนเหนือ ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงสำรวจจุดฟันหลอ ตามแนวคลองที่ต้องใช้ในการระบายน้ำต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์พายุฝน เบื้องต้น หน่วยงานรัฐเชื่อว่าวิธีนี้จะสามารถช่วยลดผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง

แชร์