
เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษาใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จ.สมุทรปราการ ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้นับเป็นภัยพิบัติร้ายแรงอีกรูปแบบหนึ่งที่สร้างผลกระทบทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมใกล้เคียง โดยหากไม่สามารถดับได้อย่างทันท่วงที ก็มีโอกาสเกิดหายนะได้อย่างคาดไม่ถึง
นอกเหนือจากบ่อขยะแห่งนี้แล้ว รู้หรือไม่ว่าประเทศไทย ยังมีบ่อขยะ ที่มีจำนวนขยะตกค้างรอการกำจัดอย่างไม่ถูกสุขลักษณะอีกจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,700 แห่ง และบ่อขยะเหล่านี้ มีโอกาสเกิดเหตุเพลิงไหม้ลุกลามได้ทุกเวลา โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน รวมระยะเวลา 3 เดือน (มี.ค. – พ.ค.) ซึ่งกรณีนี้ นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ข้อมูลว่า ในช่วงเวลา 3 เดือนนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล และหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลบ่อขยะ จะต้องเฝ้าระวัง ด้วยการจัดเวรยามและเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ในพื้นที่ และดูแลไม่ให้บุคคลภายนอกจุดไฟใส่กองขยะ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่ไฟจะลุกติดได้เองจากปฏิกิริยาเคมีใต้กองขยะ ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงต้องหมั่นพลิกกองขยะกลับไปมาอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่กับการฉีดพ่นน้ำเป็นฝอยเหนือกองขยะในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัด นำขยะที่เป็นแหล่งเชื้อเพลิง เช่นเศษผ้า, พลาสติก, ไม้ กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ให้ได้มากที่สุด
ที่สำคัญคือไม่ควรกำจัดขยะแบบเทกอง(Open Dump) แต่ควรจัดการขยะโดยการฝังกลบให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล(Sanitary Landfill) และนำก๊าซมีเทนกับก๊าซไข่เน่าระบายสู่บรรยากาศไม่ให้สะสมในกองขยะเพราะจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่เป็นต้นเหตุไปสู่ปัญหาไฟไหม้ได้
.

จากการศึกษาพบว่ากองขยะสามารถเกิดการลุกติดไฟได้เอง เนื่องจากทุกแห่งมีขยะที่สามารถติดไฟอยู่เป็นจำนวนมากเช่น เศษผ้า เศษพลาสติก ไม้ และกระป๋องสเปรย์ไอระเหยสารอินทรีย์ รวมทั้งมีปริมาณสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้เป็นจำนวนมากเช่น ผัก ผลไม้ และเศษอาหาร เมื่อถูกฝังกลบเป็นกองภูเขา สารอินทรีย์เหล่านี้ที่ถูกฝังลึกลงไปจากผิวหน้าตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป จะเกิดการย่อยสลายแบบไร้ออกซิเจนโดยหากใช้เวลามากกว่า 10 วัน จะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน, ก๊าซไข่เน่า, ก๊าซแอมโมเนียและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งเกิดปฎิกริยาคายความร้อนออกมา 25-55 องศา จนกลายเป็นจุดความร้อน (Hotspot) ลักษณะเป็นหย่อม ๆ ใต้กองขยะ และจุดใดมีความร้อนตั้งแต่ 55 องศาขึ้นไป ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดไฟลุกได้ หากภายในกองขยะมีก๊าซออกซิเจนเหลือร้อยละ 1-10 ของอากาศ บวกกับอุณภูมิ 55 องศาในกองขยะ (ความร้อนมาจากอากาศที่ร้อนและปฎิกริยาคายความร้อนจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ในภาวะไร้ออกซิเจน) เมื่อรวมกับก๊าซมีเทนและเชื้อเพลิงที่ติดไฟ จะมีโอกาสทำให้ขยะกองนี้ลุกติดไฟได้เอง
นอกจากนี้ยังพบว่าการลุกติดไฟได้เองของกองขยะไม่ได้มีสาเหตุมาจากก๊าซมีเทนโดยตรง เนื่องจากก๊าซมีเทนจะติดไฟได้เองเมื่อมีอุณหภูมิมากกว่า 500 องศา แต่ก๊าซมีเทนจะมีผลทำให้ไฟไหม้กองขยะรุนแรงมากขึ้นหลังจากกองขยะติดไฟแล้วขณะเดียวกันยังพบสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้กองขยะที่สำคัญส่วนใหญ่มาจากการที่คนเอาเชื้อไฟไปใส่กองขยะด้วย

บ่อขยะแพรกษาใหม่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ซอยขจรวิทย์ หมู่ 5 ต.แพรกษาใหม่ อ.เมืองจ.สมุทรปราการ มีเนื้อที่ 320 ไร่ ปัจจุบันต้องรองรับขยะจำนวนมหาศาลจากทั้งจังหวัด โดยขณะนี้มีขยะที่รอเข้าสู่กระบวนการกำจัดตกค้างอยู่ถึงกว่า 10 ล้านตันทำให้เกิดกองภูเขาขยะมหาศาล เนื่องจากไม่สามารถฝังกลบได้ และมักเกิดปัญหาไฟไหม้บ่อยครั้ง

การเผาไหม้ในกองขยะที่มีขยะหลากหลาย โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะก่อให้เกิด ฝุ่น PM2.5 และ ก๊าซพิษ เช่น คาร์บอนมอนออกไซด์, ไดออกซิน, ฟิวแรน และ ไฮโดรเจนคลอไรด์ ซึ่งบางชนิดนับเป็นสารก่อมะเร็ง จึงส่งผลกระทบต่อมนุษย์หรือประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงทันที เพราะจะทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพจากการสูดดมควันพิษ ส่วนผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม คือก่อให้เกิดหมอกควันพิษ และน้ำเสียที่เกิดจากการดับไฟที่ปนเปื้อนสารเคมีจะไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะต่ออีกทอดหนึ่งด้วย