เครื่องหมายอัศเจรีย์

เฝ้าระวัง “ASF” หลังพบหมูตาย ที่ราชบุรี

26 กุมภาพันธ์ 2565

สถานการณ์โรคระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ African Swine Fever (ASF) ในประเทศไทยที่แม้จะเริ่มคลี่คลาย  แต่ยังต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาด หลังจาก 2 เดือนที่ผ่านมาพบว่ากว่า 50 จังหวัด มีสุกรป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวซึ่ง จ.ราชบุรีก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เกิดโรคระบาด ทำให้จำนวนสุกรลดลงเหลือเพียง1,307,930 ตัว จากเดิมในปี 2564 ที่มี 2,157,162 ตัว  

นายบุรินทร์ สรสิทธิ์สุขสกุล ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี ระบุว่า สาเหตุที่จำนวนสุกรลดลงไม่ได้เกิดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงปัจจัยจากสภาพแวดล้อมและระบบจัดการของเสียในแต่ละฟาร์มอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สุกรเสียชีวิต 

สำหรับวิธีดำเนินการควบคุมโรคในกรณีที่พบว่าสุกรติดโรคอหิวาต์แอฟริกา ผู้เลี้ยงต้องกักตัวสุกรที่ป่วยหรือติดเชื้อไว้ภายในสถานที่เกิดโรค  จากนั้นให้ดำเนินการทำลายสุกรที่แสดงอาการด้วยวิธีการฝังกลบและทำความสะอาดรอบพื้นที่เลี้ยงด้วยการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ส่วนการชดเชยค่าเสียหายให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรที่ได้รับผลกระทบ พบว่าผู้ที่จะรับเงินชดเชยต้องเป็นเกษตรกรรายย่อยและรายเล็กที่เลี้ยงสุกรไม่เกิน 500 ตัว ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยจะคิดในราคาไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของราคาสุกรหรือซากสุกรที่ประเมินในท้องตลาด

แชร์