เครื่องหมายอัศเจรีย์

เสริมคันป้องกัน น้ำท่วม บ่อขยะอ่างทอง

น้ำท่วม อ่างทอง 1

เจ้าหน้าที่เสริมคันกั้นบ่อขยะเทศบาลเมืองอ่างทอง ใน ต.เทวราช อ.ไชโย จ.อ่างทอง  หลังมวลน้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่าน จ.สิงห์บุรี   ทะลักเข้ามาตามช่องว่างแนวคันกั้นที่แตกเสียหายจนทำให้ น้ำท่วม บริเวณ อ.ไชโย   รวมถึงยังมีมวลน้ำจากแม่น้ำน้อย ที่เอ่อล้นตลิ่งมายังคลองสามซ้าย   โดยมวลน้ำจากทั้ง 2 จุดจะไหลมาลงคลองลำท่าแดง  ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ไหลผ่านบริเวณใกล้กับบ่อขยะ ก่อนผ่านประตูระบายน้ำเข้าสู่เขตเศรษฐกิจของเทศบาลเมืองอ่างทอง 

ศูนย์พัฒนาสื่อสารด้านภัยพิบัติตรวจสอบพบปริมาณน้ำหลากมีมาก ทำให้เอ่อล้นตลิ่งลำคลองสาขา และไหลบ่ากระจายเข้าทุ่งต่าง ๆ  ทำให้มีระดับน้ำแนวโน้มสูงขึ้น อีกทั้งยังขยายวงกว้าง ทำให้มวลน้ำบางส่วนเอ่อเข้าไปในบ่อขยะ  สร้างความกังวลให้กับชาวบ้านชุมชนลำท่าแดง ม.4 ต.เทวราช อ.ไชโย  เพราะเกรงว่าน้ำและขยะจากบ่อขยะจะไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ รวมถึงกระจายเข้าไปในพื้นที่โดยรอบ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

น้ำท่วม อ่างทอง 2
มวลน้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่าน จ.สิงห์บุรี ซึ่งทะลักเข้ามาตามช่องว่างแนวคันกั้นน้ำริมตลิ่งที่พังเสียหาย จนทำให้น้ำไหลหลากเข้ามาท่วมบริเวณ อ.ไชโย รวมถึงยังมีมวลน้ำจากแม่น้ำน้อย ที่เอ่อล้นตลิ่งมายังคลองสามซ้าย โดยมวลน้ำจากทั้ง 2 จุดจะไหลมาลงคลองลำท่าแดง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ไหลผ่านบริเวณใกล้กับบ่อขยะเทศบาลเมืองอ่างทอง ขณะนี้พบปริมาณน้ำมีมาก บางส่วนไหลเข้ามาในบ่อขยะ ทำให้เกิดการปนเปื้อน

นายเตือนใจ ทรงไตร นายกเทศมนตรีเมืองอ่างทอง ให้ข้อมูลกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ยอมรับมวลน้ำปีนี้มีมากใกล้เคียงกับปี 2554 จึงต้องเร่งดำเนินการป้องกันนำดินมาเสริมคันป้องกันบ่อขยะไว้ เพราะปริมาณขยะที่ต้องรองรับขยะจากทั้งจังหวัด มีมากถึงกว่า 300,000 ตัน หากมวลน้ำไหลเข้ามาท่วมได้จะส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนเป็นอย่างมาก ประกอบกับขยะที่มีอยู่อาจกระจายไปในบริเวณกว้าง 

ที่ผ่านมาได้มีความพยายามแก้ปัญหาระยะยาวด้วยการสร้างโรงขยะไฟฟ้า แต่ยังติดปัญหาในขั้นตอนของการอนุมัติงบประมาณ สิ่งที่ทำได้ขณะนี้คือการเร่งย้ายขยะออกจากบ่อไปยังโรงงานรับซื้อที่ จ.สระบุรี ควบคู่กับการเสริมคันป้องกันน้ำท่วม 

น้ำท่วม อ่างทอง 3
ประตูระบายน้ำสวนน้ำ พื้นที่สำคัญ ถือเป็นจุดควบคุมน้ำของคลองลำท่าแดง ซึ่งรองรับมวลน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และ แม่น้ำน้อย ที่ไหลบ่ามายังทุ่งรับน้ำและชุมชนภายในเขต อ.ไชโย จ.อ่างทอง รวมถึงมวลน้ำที่จะไหลผ่านบ่อขยะ(กรณีน้ำทะลักท่วมบ่อขยะ) ไม่ให้น้ำที่มีปริมาณมาก หรือ น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีไหลผ่านเข้าสู่เขตเศรษฐกิจของเทศบาลเมืองอ่างทอง ซึ่งภายในมีโรงพยาบาล, ตลาด, สถานที่ราชการ และ ธนาคารหลายแห่ง

ยืนยัน ขณะนี้ยังไม่มีน้ำจากภายนอกไหลเข้าท่วมบ่อขยะในปริมาณมาก สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้คือการป้องกันพื้นที่แห่งนี้ไว้ไม่ให้ น้ำท่วม เข้ามาเพิ่มและป้องกันไม่ให้น้ำที่ไหลเข้าท่วมแล้วบางส่วนไหลลงสู่คลองหรือแหล่งน้ำสาธารณะต่อไป

นายณรงค์พร ดูดดื่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอ่างทอง ระบุว่า จังหวัดได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยหากพบน้ำปนเปื้อนไหลออกจากบ่อขยะที่จุดใด จะรีบประสานให้เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษส่วนกลาง นำเครื่องตรวจวัดค่าสารพิษมาตรวจตามแหล่งน้ำสาธารณะทันที เบื้องต้นยอมรับว่ามีแบคทีเรีย และสารเคมีอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังหลายอย่าง เช่น แบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม, อีโคไล ซึ่งไม่เพียงแค่แบคทีเรีย 2 ตัวนี้เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายชนิดที่ไม่สามารถระบุได้ เพราะต้องยอมรับว่าบ่อขยะคือที่รวบรวมสิ่งสกปรกที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อได้หากรั่วไหลออกไป และหากเกิดการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนของเสีย ประชาชนจะต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดนน้ำเหล่านี้ เพราะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดโรคทั้งภายในและภายนอกร่างกาย 

แชร์